เห่อเทียนทะเล หนักกว่าพะยูง ไม่ถึงต้นราคา 1.6ล. อธิบดีป่าไม้ชี้ เอง ใครครอบครอง เจออาถรรพ์เพียบ แห่ขอคืน

เทรนใหม่ ค้า เทียนทะเล หนักกว่าพะยูงอีก ไม่ถึงต้นราคา 1.6 ล้าน เศรษฐีไทย คลั่งหนัก อธิบดีป่าไม้ชี้เอง ใครครอบครอง เจออาถรรพ์เพียบ

วันที่ 22 สิงหาคม นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ในฐานะที่ปรึกษาชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา นายฮาริพันธ์ เกตุชู เจ้าหน้าที่ชุดพยัคฆ์ไพร รายงานว่า หน่วยปราบปรามพิเศษพยัคฆ์ไพร ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ ทหาร กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ รมน.) กองทัพภาคที่ 4 ทภ.4 พื้นที่เกาะสมุย เข้าตรวจสอบการลักลอบตัดทำลาย ต้นเทียนทะเล บริเวณหาดแหลมเทียน ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลการปฏิบัติ ตรวจพบ การลักลอบตัดทำลายต้นเทียนทะเล อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการทำลายระบบนิเวศ และเป็นการทำลายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทางชุดตรวจสอบ ได้ประสานกับผู้นำชุมชนและผู้ประกอบการโรงแรม ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ให้ช่วยสอดส่องดูแล และแจ้งเบาะแส ขบวนการลักลอบตัดทำลายต้นเทียนทะเล ต่อไป

 

Advertisement

 

นายชีวะภาพ กล่าวว่า ความน่าเป็นห่วงเรื่องการลักลอบใช้ทรัพยากรธรรมชาติอีกวิธีล่าสุดคือ การลักลอบตัดเอาไม้เทียนทะเล ซึ่งเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่บนหิน หรือซากปะการังริมทะเลไปทำเป็นไม้ดัด บอนไซ ขาย เวลานี้บูมอย่างหนัก โดยเฉพาะ การส่งไปขายต่างประเทศ ที่นิยมเลี้ยงบอนไซ เช่น ญี่ปุ่น และประเทศจีน หรือเศรษฐีในประเทศไทย มีราคาซื้อขายกันตั้งแต่ต้นละ 4.5 หมื่นบาท ถึง 1.5 ล้านบาท หรือขายแค่กิ่งเล็กๆในราคา 3-4 พันบาท โดยไม้พวกนี้จะขึ้นตามโขดหิน หรือที่ที่มีซากปะการัง บริเวณที่มีน้ำขึ้นน้ำลงริมทะเล ลักษณะต้นไม้สูงไม่มาก ไม่เกิน 5 เมตร และมีหลายขนาด

“วิธีการเข้าไปเอาต้นเทียนทะเลคือ การเดินหาแหล่งตามชายหาดที่มีโขดหิน เมื่อได้เป้าหมายก็จะถ่ายรูปส่งไปให้ลูกค้าดู ความน่ากลัวก็คือ เมื่อลูกค้าดูก็จะทำการจองส่วนต่างๆจากรูปถ่าย และจะกำหนดราคากันตรงนั้นจากผู้ลักลอบตัด ตั้งราคากันตามใจชอบในราคาที่สูงมาก หรืออีกกรณีก็คือ เมื่อได้ต้นไม้มาแล้วการขนย้ายออกนอกพื้นที่ก็จะขนใส่เรือเล็กๆ ตบตาเจ้าหน้าที่ แล้วเอามาตกแต่งดัดแปลงเพิ่มเติมในเซฟเฮาส์ ซึ่งเวลานี้ หลายเจ้า ชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพร สามารถแกะรอยหาหลักฐานเตรียมเข้าจับกุมแล้ว”นายชีวะภาพ กล่าว

Advertisement

ที่ปรึกษาชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพร กล่าวว่า หากเทียบระหว่างเทียนทะเล กับไม้พะยูงนั้น ถือว่า ตอนนี้เทียนทะเลน่าเป็นห่วงมากกว่ามาก เพราะไม้พะยูงเวลานี้การลักลอบตัดค่อนข้างเบาบางลงจากการปราบปราบเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ แต่เทียนทะเลนั้นหนักขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะมูลค่าทางการตลาดนั้นสูงกว่าพะยูงมาก

“ไม้พะยูงราคาขึ้นกับเนื้อไม้ เช่นต้นขนาดใหญ่อายุเยอะๆตอนนี้เต็มที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่สำหรับเทียนทะเล บางต้นไม่เกิน 1 เมตร ตกแต่งดีๆขายกันในราคา 1.6 ล้าน หรือเป็นกิ่ง กิ่งเดียวราคาเหยียบหมื่น ทั้งนี้การขนย้ายไม้พะยูงออกนอกพื้นที่เมื่อตัดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ทำยาก เนื่องจากพื้นที่ป่าทุกแห่ง ทั้งกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ นำเอาระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือสมาร์ทพาโทรลมาใช้ แต่การขนย้ายต้นเทียนทะเลทำกันง่ายมาก เพราะเป็นไม้ที่ไม่ใหญ่มาก ใส่แค่เรือลำเล็ก เอาไปเก็บได้ก็ทำได้แล้วเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ราคามันพุ่งขนาดนี้ได้อย่างไร อาจจะเป็นเพราะมีการกำหนดราคากันเองตามใจชอบระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ซึ่งแน่นอนว่า ทำกันเฉพาะกลุ่มคนที่มีฐานะเท่านั้น”นายชีวะภาพ กล่าว

 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีทส. กล่าวว่า ไม้เทียนทะเลจัดเป็นไม้มีคุณค่าทางระบบนิเวศ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตนเองได้มีโอกาสลงตรวจพื้นที่ป่าชายเลนในหลายพื้นที่ และได้พบเห็นไม้เทียนทะเลในธรรมชาติว่ามีความสวยงาม และทราบว่าเป็นไม้ที่มีความต้องการของตลาดปัจจุบัน แต่ยังไม่มีประกาศอยู่ในบัญชีไม้หวงห้าม การบุกรุกลักลอบตัดไม้เทียนทะเลในป่าชายเลนถูกพบเห็นและดำเนินคดีอยู่บ่อยครั้ง ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ดำเนินการออกคำสั่งและมาตรการคุ้มครองไม้เทียนทะเลให้คงอยู่ตามธรรมชาติอย่างเร่งด่วน

“มูลค่าไม้เทียนทะเลที่ซื้อขายกันที่ว่ามีราคาสูงแล้วนั้น เป็นเพียงมูลค่าที่เกิดจากความพึงพอใจระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย ซึ่งไม่รวมมูลค่าที่เป็นต้นทุนธรรมชาติ คุณประโยชน์ต่อระบบนิเวศและจะเป็นสมบัติของลูกหลานเราในอนาคตที่ยากที่จะประเมินมูลค่าเป็นตัวเงินได้ การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อเข้าตัดไม้เทียนทะเล เป็นความผิดทางอาญา จะต้องถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด”รัฐมนตรีทส.กล่าว

ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดี ทช. กล่าวว่า ไม้เทียนทะเล ไม่ได้อยู่ในบัญชีไม้หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2530 ทำให้ไม้เทียนทะเลไม่ได้มีกฎหมายคุ้มครอง โดยเฉพาะ ที่ผ่านมา ทช. สามารถดำเนินการได้เพียงแจ้งข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุก ทำลายป่าเท่านั้น เป็นเหตุให้การกำกับ ควบคุม ดูแล ตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่เป็นไปได้ยาก ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งราวกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทช.ได้มีหนังสือขอให้กรมป่าไม้ได้พิจารณาเสนอไม้เทียนทะเลที่ขึ้นในป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก ในบัญชีไม้หวงห้ามต่อไป อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวอาจจะต้องใช้ระยะเวลายาวนาน กว่าจะผ่านออกมาเป็นกฎหมายได้

“ดังนั้น เพื่อเป็นการระงับการกระทำที่ทำให้ไม้ชนิดนี้ที่มีจำนวนน้อยอยู่แล้วในธรรมชาติไม่ให้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วอันจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 ประกอบมาตรา 17 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ผมจึงออกคำสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ ๙๗๗/๒๕๖๓ ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2563 เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรไม้เทียนทะเล เพื่อเป็นการกำหนดมาตรการคุ้มครองทรัพยากรไม้เทียนทะเลมิให้ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงจากการลักลอบขุดล้อมไม้เทียนทะเล เพื่อการค้าไม้บอนไซ และนำไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนอื่นใดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2563 ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้ใดพบเห็นผู้กระทำความผิดขอให้แจ้งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ในทุกช่องทางตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อจะได้เร่งรัดดำเนินการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด”นายโสภณ กล่าว

 

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า เวลานี้เกิดการปั่นราคาเทียนทะเลกันอย่างไร้เหตุผลใดๆทั้งสิ้น และหลายคนก็ซื้อไม้ชนิดนี้มาอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่ามีความผิด แค่เห็นว่า สวยแปลก มีเงินก็อยากได้มาครอบครองบ้าง อย่างไรก็ตาม ก็มีเรื่องที่น่าแปลกกว่านั่นคือ ท่ามกลางกระแสการปั่นราคาต้นเทียนทะเลกันนั้น ก็มีผู้ที่เคยซื้อเทียนทะเลไปแล้ว ได้แจ้งความจำนงค์มาที่กรมป่าไม้ว่าต้องการเอามาคืน

“ผมเจอกับตัวเอง เพราะไปนั่งกินข้าวที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง เจ้าของร้านมีต้นเทียนทะเลตั้งประดับร้านอยู่ ผมสอบถามว่าได้มาจากไหนอย่างไร เจ้าของตอบว่า ซื้อมาจากคนรู้จักเห็นเป็นบอนไซที่สวยดี แต่ตั้งแต่ได้มาค้าขายไม่ดี การใช้ชีวิตก็ไม่ดีเลย ผมก็บอกไปว่า ไม้ชนิดนี้เป็นไม้ที่ผิดกฏหมาย เจ้าของร้านแสดงความจำนงค์ที่จะขอคืนไม้ให้กับกรมป่าไม้ พร้อมกับบอกว่า หากรู้แต่แรกว่าผิดคงไม่ซื้อ เพราะซื้อมาราคาแพง แถมมีไว้ชีวิตก็มีแต่แย่ลง ค้าขายก็ทำไม่ขึ้น”นายอรรถพล กล่าว

เมื่อถามว่า คนที่ครอบครองไม้เทียนทะเลเวลานี้ ถือว่ามีความผิดต้องรับโทษด้วยหรือไม่ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า เนื่องจากเวลานี้ กรมป่าไม้ยังไม่ได้ประกาศให้เป็นไม้หวงห้าม คนครอบครองยังไม่มีความผิด แต่หากมีพฤติกรรมน่าสงสัย และมีการนำสืบว่า ครอบครอง และมีส่วนร่วมในการตัดไม้หรือเอาไม้มาจากธรรมชาติจะมีความผิดทันที และขณะนี้กรมป่าไม้อยู่ระหว่างการเตรียมประกาศให้เทียนทะเลเป็นไม้หวงห้ามอยู่ น่าจะประกาศได้ภายในปีนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image