กรมแพทย์แผนไทยฯ เผยผลวิจัยยากัญชา-กัญชง สูตรหมอเดชา ช่วยผู้ป่วยดีขึ้น

กรมแพทย์แผนไทยฯจับมือจุฬาฯ ต่อยอดตำรับยากัญชา-กัญชง เผยสูตรหมอเดชาผู้ป่วยคุณภาพชีวิตดีขึ้น

วันที่ 25 สิงหาคม ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ  ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1.บันทึกข้อตกลงการศึกษาวิจัยตำรับยาไทยและองค์ความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก การสร้างและพัฒนาเครือข่ายนักวิจัย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากรและการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลด้านการวิจัย 2.บันทึกข้อตกลงว่าความร่วมมือดำเนินการวิจัยและพัฒนายาแผนไทยที่มีกัญชา กัญชง เป็นส่วนผสม

ทั้งนี้ การลงนามเอ็มโอยู 2 ฉบับ เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการร่วมมือด้านงานวิจัย ระหว่างกรมการแพทย์แผนไทยฯ และจุฬาฯ โดยคณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ให้คำปรึกษาและเป็นพี่เลี้ยงในการศึกษาวิจัยตำรับยาไทย ยาแผนไทยที่มีกัญชา กัญชงเป็นส่วนผสม จัดการข้อมูล (data management) จัดการความรู้ (knowledge management) พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการวิจัย สร้างและพัฒนาภาคีเครือข่ายนักวิจัย และเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลด้านการวิจัยด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมกัน

นพ.มรุต เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน เช่น โครงการพัฒนาภาคีเครือข่ายนักวิจัยด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในแต่ละภูมิภาค ที่ได้ผลผลิตเป็นการพัฒนานักวิจัยหน้าใหม่ ได้ผลงานวิจัยนำเสนอเสนอเวทีประชุมวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ที่เป็นที่ยอมรับ รวมถึงรอการเผยแพร่อีกกว่า 50 ผลงาน เช่น การทดลองทางคลินิกเพื่อเปรียบเทียบยาขมิ้นชันกับ omeprazole ในการรักษา functional dyspepsia, การทดลองทางคลินิกเพื่อเปรียบเทียบตำรับยาสมุนไพรกับ domperidone ในการเพิ่มปริมาณน้ำนมในมารดาหลังคลอด, การวิจัยเชิงสังเกตุเพื่อศึกษาความปลอดภัยและผลการรักษาโรคทางระบบประสาท กล้ามเนื้อ ทางเดินหายใจ ผิวหนัง ด้วยตำรับยาสมุนไพรไทย ทั้งแบบรับประทาน สูด และประคบ ร่วมกับศาสตร์อื่นๆ เช่น การนวด และ การฝังเข็ม, การวิจัยเชิงคุณภาพ เกี่ยวกับตำรับยาสมุนไพรสำหรับโรคสะเก็ดเงิน ข้อเข่าเสื่อม แผลร้อนใน ภาวะมีบุตรยาก, การสำรวจการสั่งจ่ายยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ สำหรับโรคต่างๆ, การสำรวจที่ตั้งและการผ่านเกณฑ์คุณภาพโรงงานผลิตยาสมุนไพรทั่วประเทศไทย, การพัฒนากรอบการวิจัยด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกของประเทศ ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมแอพลิเคชั่นมือถือ เพื่อเพิมความปลอดภัยในการใช้สมุนไพร เป็นต้น

Advertisement

นอกจากนี้ นพ.มรุต กล่าวว่า ยังมีการร่วมกันพัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับดำเนินการในห้องปฏิบัติการทั้งด้านการตรวจสอบ ประเมินและควบคุมคุณภาพสมุนไพรก่อนนำมาศึกษาวิจัย รวมถึงความร่วมมือด้านการเป็นที่ปรึกษางานวิจัยทั้งระดับพรีคลินิกและงานวิจัยทางคลินิกอีกหลายโครงการ

“ล่าสุดโครงการติดตามลักษณะการใช้และคุณภาพชีวิตของผู้ใช้น้ำมันกัญชาในทางการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ซึ่งศึกษาวิจัยน้ำมันกัญชา (ตำรับหมอ เดชา) ในโรงพยาบาล 30 แห่ง มีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการฯกว่า 18,000 คน เพื่อประเมินผลของน้ำมันกัญชาทางการแพทย์แผนไทยต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และศึกษาลักษณะการสั่งใช้น้ำมันกัญชาทางการแพทย์แผนไทย โดยได้รับความร่วมมือจาก ผศ.นพ.กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ และ นายภานุพงศ์ ภู่ตระกูล อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในการให้คำปรึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลผู้ป่วยผ่านโปรแกรม REDCap ของ Chula-Data Management Center (Chula-DMC) ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับน้ำมันกัญชา (สูตรหมอเดชา) ที่มีอาการนอนไม่หลับ ปวดมะเร็ง ปวดไม่เกรน เบื่ออาหาร ภูมิแพ้  โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ” นพ.มรุต กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image