นฤมล ถกทีมวิชาการ ลุยยกระดับฝีมือแรงงาน รับอุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟ-นิว เอสเคิร์ฟ 

นฤมล ถกทีมวิชาการ ลุยยกระดับฝีมือแรงงาน รับอุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟ-นิว เอสเคิร์ฟ 

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานประชุมคณะทำงานด้านวิชาการ โดยมี นายภาคิน สมมิตรธนกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และทีมงานที่เกี่ยวข้องจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เข้าร่วมประชุมและให้ข้อมูลภารกิจของ กพร. เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานทุกกลุ่มเป้าหมาย ป้อนตลาดแรงงานในประเทศและต่างประเทศ รองรับอุตสาหกรรม S-Curve New S-curve

นางนฤมล กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนรองรับอุตสาหกรรม S-Curve New S-curve ประกอบด้วย การพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ โดยกลุ่มแรงงานในระบบ จะให้ความสำคัญกับการ Up skill ให้แก่แรงงาน ด้วยการยกระดับทักษะฝีมือรองรับเทคโนโลยี 4.0 สำหรับแรงงานที่ขาดทักษะ ที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างจะเร่งให้มี Re-Skill ให้มีทักษะตรงกับความต้องการ หรือสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอื่นได้

“ส่วนแรงงานนอกระบบนั้น ประกอบด้วย กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทหารก่อนปลดประจำการ รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะกลุ่มสตรี นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำการพัฒนาทักษะให้แก่บัณฑิตจบใหม่ มีทักษะ ความรู้ ความสามารถเพื่อเข้าสู่การจ้างงาน ลดปัญหาอัตราการว่างงานด้วย โดยแต่ละกลุ่มมอบหมายให้ กพร. ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกลุ่มเป้าหมายและความต้องการของตลาด อาทิ การพัฒนาทักษะให้กับผู้สูงอายุ ให้มีความรู้ด้านไอที (IT) สามารถประกอบอาชีพเป็นแคชเชียร์ได้ หรือทักษะที่สามารถรวมกลุ่มเพื่อประกอบอาชีพ เช่น งานศิลปหัตถกรรม การแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าสินค้า รวมถึงการฝึกหลักสูตร การดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งตลาดแรงงานมีความต้องการสูงมากทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งอัตราค่าจ้างค่อนข้างสูง ซึ่งทักษะขั้นพื้นฐานที่แรงงานต้องมีคือ ดิจิทัล และภาษา” นางนฤมล กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ นางนฤมล กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 กพร.ได้เสนอโครงการเพื่อยกระดับทักษะแรงงาน การส่งเสริมด้านมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อให้แรงงานได้รับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ และการฝึกทักษะให้แก่แรงงานนอกระบบ นอกเหนือจาการฝึกอบรมแล้ว กพร.ยังมีการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 เพื่อให้การส่งเสริมและสนับสนุนสถานประกอบที่ปฏิบัติภายใต้ พ.ร.บ.ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนในแต่ละกรณี รวมถึงการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย ซึ่งภารกิจเหล่านี้ต้องมีการขับเคลื่อนและดำเนินการอย่างเข้มข้น

สำหรับคณะทำงานด้านวิชาการที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย ม.ล.ปุณฑริก สมิติ อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน รศ.บุษกร วัชรศรีโรจน์ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รศ.สมชาย นำประเสริฐชัย ผู้อำนวยการสำนักบริการคอมพิวเตอร์/อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และ นายพิรัส ศิริขวัญชัย ตัวแทนจากภาคเอกชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image