เอนกลงพื้นที่เชียงใหม่ติดตามโครงการ อว.จ้างงาน ระยะที่ 1–2

เอนกลงพื้นที่เชียงใหม่ ติดตามโครงการ อว.จ้างงาน ระยะที่ 1–2

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ศ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ พร้อมประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงานโครงการ อว.จ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2

ศ.เอนก ให้สัมภาษณ์หลังประชุมว่า โครงการ อว.จ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 ในพื้นที่ 25 อำเภอของ จ.เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน ระยะที่ 1 จ้างงาน มีจำนวน 70 คน ระยะที่ 2 มีจำนวน 192 คน ให้ผู้ได้รับการจ้างงานเก็บรวบรวมข้อมูล และจัดทำฐานข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ตลอดจนงานวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ในการจัดทำแผนในการส่งเสริมและพัฒนาผลกระทบที่เกิดในชุมชน ได้แก่ แผนการส่งเสริมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากร การส่งเสริมอาชีพ การส่งเสริมด้านการเกษตร การส่งเสริมสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และงานด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ซึ่งผู้รับจ้างงานโควิด-19 มีส่วนในการช่วยสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยของอาจารย์ผู้ควบคุมในการแก้ปัญหาของชุมชน ถือว่าได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ เพราะข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่เป้าหมาย 25 อำเภอ โดยใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด–19 ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หน่วยงานการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ มีฐานข้อมูลเพื่อใช้วางแผนพัฒนาอาชีพให้กับชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภควิถีใหม่

Advertisement

ศ.เอนก กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้เห็นภาพรวมของการแก้ปัญหา การป้องกันและส่งเสริมด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อใช้ประโยชน์ด้านการบริโภคและการเกษตร ปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อการอุปโภค และบริโภค การเกษตร ที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งการน้อมนำแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนตามแนวพระราชดำริ อาทิ พื้นที่ 16 ชุมชน ของ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เมื่อการดำเนินงานครบระยะเวลาการ จ้างงานจะทำการสรุปผลในภาพรวมและนำส่งข้อมูลกลับคืนสู่ชุมชน เพื่อสะท้อนภาพรวมของสถานการณ์ทรัพยากรน้ำในแต่ละชุมชน เพื่อนำไปใช้กำหนดทิศทาง และวางแผนการจัดการน้ำ

รัฐมนตรีว่าการ อว.กล่าวว่า ที่สำคัญ ยังมีเรื่องของการสำรวจเก็บข้อมูลในงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นตามรูปแบบของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ (อพ.สธ.) ใน 41 พื้นที่ของ จ.เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นที่เป็นประโยชน์ในการต่อยอดงาน อพ.สธ. และยังได้ฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่นที่สำคัญสำหรับการต่อยอดเป็นศูนย์ข้อมูลงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นระดับตำบล อันนำไปสู่การสร้างและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในอนาคต ตลอดจนในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยการให้ผู้รับจ้างงานเข้าร่วมงานกับโรงพยาบาลสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) เช่น ตรวจเชื้อและบันทึกข้อมูลของผู้มาใช้บริการ รพ.สต. รวมทั้งการลงพื้นที่ในการให้บริการด้านสาธารณะสุขในพื้นที่รับผิดชอบ เช่น การลงพื้นที่เพื่อตรวจสุขภาพของประชาชนและการเยี่ยมผู้ป่วยในพื้นที่อำเภอสันทราย เป็นต้น มีการจัดทำฐานข้อมูลด้านการท่องเที่ยวชุมชนและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศตามแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น และชุดฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์โอท็อป (OTOP) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ อ.เมืองเชียงใหม่ อ.สันกำแพง อ.สันป่าตอง อ.ดอยเต่า เป็นต้น

“ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 โดยจะนำฐานข้อมูลที่ได้เป็นทั้งคลิปวิดีโอ และข้อมูลเชิงลึกของสถานที่ท่องเที่ยวและสินค้าโอท็อปในพื้นที่ จัดทำเป็นฐานข้อมูลในอินเตอร์เน็ต และส่งมอบฐานข้อมูลดังกล่าวให้กับส่วนราชการและผู้ประกอบการใช้เป็นประโยชน์ต่อไป ตลอดจนการส่งเสริมอาชีพหลังวิกฤตโควิด-19 ที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน อาทิ ชุมชนใน อ.แม่แตง และ อ.ฝาง ซึ่งบางชุมชนมีขยะเหลือทิ้งจากการเกษตรเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาจารย์ผู้ควบคุมพื้นที่ได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้รับจ้างงานซึ่งเป็นบัณฑิต จบใหม่ที่มีความรู้ทางด้านวิศวกรรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการแปรรูปและใช้เป็นพลังงานทดแทน เพื่อใช้ในชุมชนและยังสามารถเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย เป็นต้น” ศ.เอนก กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image