นฤมล จีบหัวเว่ยร่วมพัฒนาแรงงานยุคดิจิทัล ดึง ออมสิน ช่วยปลดหนี้นอกระบบ

นฤมล จีบหัวเว่ยร่วมพัฒนาแรงงานยุคดิจิทัล ดึง ออมสิน ช่วยปลดหนี้นอกระบบ

เมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่กระทรวงแรงงาน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารจากบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบด้วย นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร นายเหยา ลู่ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร น.ส.ธริศรา ธนจิราดลสุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล และ น.ส.นันทิยา มานิช ผู้จัดการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร พร้อมหารือความร่วมมือด้านแรงงานในอนาคต และแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อแรงงาน

นางนฤมล กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลเป็นความท้าทายด้านแรงงานที่ต้องได้รับการพัฒนาความรู้ ทักษะ ความสามารถให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะบุคลากรด้านไอซีทีที่มีทักษะสูง เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีได้พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดและถูกนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เช่น ระบบ Cloud Computing, Big Data, Internet Opting, AI, 5G เป็นต้น ทำให้ขาดแรงงานที่มีทักษะความรู้ด้านไอซีที

“หัวเว่ย เป็นองค์กรชั้นนำด้านบริการโซลูชันไอซีทีระดับโลก มีความมุ่งมั่นที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านไอซีที จึงได้วางแผนการพัฒนาอีโคซิสเต็มเพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านแรงงานดิจิทัลที่มีทักษะสูง ทั้งการฝึกอบรม ตลอดจนการออกใบรับรองมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาบุคลากรสู่ตลาดแรงงาน” นางนฤมล กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ นางนฤมล กล่าวว่า ล่าสุดได้เป็นประธานประชุมหารือโครงการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการประกอบชีพ ระหว่างธนาคารออมสิน กับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) โดยโครงการนี้จัดทำเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือผู้ที่สนใจประกอบอาชีพอิสระ เข้ารับการพัฒนาทักษะฝีมือให้มีความรู้ ความสามารถ สามารถนำไปประกอบอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และรองรับต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคต รวมไปถึงเพิ่มช่องทางในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพอิสระ

“ธนาคารออมสินจะมีการจัดอบรมความรู้ทางการเงิน เพื่อเสริมสร้างทักษะความรู้ทางการเงินเบื้องต้น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ รวมทั้งการสร้างทัศนคติทางการเงินที่ดี และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายให้เหมาะสมแก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมอาชีพจาก กพร.เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน และป้องกันการเกิดปัญหาหนี้นอกระบบ ส่วน กพร.จะส่งเสริมและสนับสนุนการฝึกอบรมฝีมือแรงงานตลอดจนการออกวุฒิบัตร เพื่อมอบให้แก่ผู้ที่ผ่านการอบรมได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป” นางนฤมล กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image