สธ.จ่อฟัน 1 ราย เรียก 5 แสน แลกบรรจุ ขรก.โควิด-19 ชี้ทุจริต-ประพฤติชั่วร้ายแรง

สธ.จ่อฟัน 1 ราย เรียก 5 แสน แลกบรรจุ ขรก.โควิด-19 ชี้ทุจริต-ประพฤติชั่วร้ายแรง

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัด สธ.พร้อมด้วย นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการ สธ.เขต 9 และ น.ส.ยุพิน ตันวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรม แถลงความคืบหน้ากรณีข้าราชการในสังกัด สธ. แอบอ้างชื่อผู้บริหารในการเรียกรับเงินแลกกับการบรรจุข้าราชการรุ่นโควิด-19

นพ.ยงยศแถลงว่า การบรรจุข้าราชการในรุ่นโควิด-19 ที่มีจำนวนมากถึง 40,000 ตำแหน่ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ.มีนโยบายชัดเจนและวางระบบที่รัดกุม เพื่อป้องกันผู้แสวงหาประโยชน์ ให้มีการคานอำนาจซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ ในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ได้รับบรรจุ รัฐมนตรีว่าการ สธ. และปลัด สธ. ไม่ได้เป็นผู้เข้ามาตรวจสอบ และได้กระจายอำนาจไปยังจังหวัด แต่งตั้งคณะกรรมระดับจังหวัดเป็นผู้ตรวจสอบ ประกอบด้วย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) หัวหน้าส่วนราชการและนักทรัพยากรบุคคลในจังหวัดนั้นๆ การตรวจสอบคุณสมบัติว่า เป็นผู้ทำงานด้านโควิด-19 หรือไม่ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของข้าราชการระดับสูงที่เป็นตัวแทนของ สธ. ที่อยู่ในส่วนภูมิภาค แต่อำนาจการบรรจุและลงนามอยู่ที่กองบริหารงานบุคคล กับ ปลัด.สธ แต่เพียงผู้เดียว

“หมายความว่า จังหวัดรวมรายชื่อของจังหวัดตัวเองส่งมาที่ สธ. กลุ่มบริหารทรัพยากรบุคคล จะมีทีมนับร้อยชีวิตตรวจสอบคุณสมบัติข้าราชการเหล่านี้ เพื่อเสนอให้ปลัด สธ.ลงนาม ดังนั้น จะมีการตรวจสอบคานซึ่งกันและกัน ส่วนกลาง และ ปลัด สธ. ไม่มีอำนาจชี้ใคร และภูมิภาค ไม่มีอำนาจเสนอใครมาก็ได้ แล้วได้รับการบรรจุทั้งหมด เพราะต้องสอบคุณสมบัติ เป็นการใช้กฎสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และใช้ความรอบคอบและถูกต้องมากที่สุด” นพ.ยงยศกล่าว

นพ.ยงยศกล่าวว่า สำหรับรายงานที่เกิดขึ้น มีเพียงรายเดียวที่ได้รับข้อมูล โดยเป็นข้าราชการต่ำกว่าระดับเชี่ยวชาญ ไม่ถึงระดับ 9 เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนกลางสามารถส่งทีมนักกฎหมายเข้าไปร่วมตรวจสอบได้ แต่เรื่องนี้ตรงไปตรงมา หลักฐานประจักษ์ชัด เบื้องต้นตนได้ปรึกษานักกฎหมาย ได้ข้อมูลว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ดำเนินตามกฎหมาย โดยส่วนกลางไม่จำเป็นต้องส่งทีมลงไป เนื่องจากผู้ตรวจราชการฯ ได้เข้าไปกำกับดูแลแล้ว และผู้ว่าราชการจังหวัดได้ใช้มาตรา 91 พ.ร.บ.การบริหารราชการแผ่นดิน และ กฎ กพ.ข้อ 5 ในการตัดสิน

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม หากนิติกร ข้อมูลที่นิติกรหามา หากผู้ว่าฯ เชื่อ ก็ตั้งสอบวินัยร้ายแรงได้เลย ไม่ต้องตั้งสอบสวนมีข้อมูลชัดเจน ดังนั้น ผู้ว่าฯ อาจไม่ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงได้เลยซึ่งเป็นการทำควบคู่กัน เพื่อลดระยะเวลา อย่างไรก็ตาม กรอบเวลาของกรรมการวินัยร้ายแรง ต้องดำเนินการภายใน 180 วัน” นพ.ยงยศกล่าว

ด้าน นพ.พงศ์เกษมกล่าวว่า พื้นที่เกิดเหตุอยู่ที่ จ.นครราชสีมา เกิดจากมีผู้ร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านทางเฟซบุ๊กว่า มีผู้แอบอ้างรับเงินบรรจุข้าราชการรุ่นโควิด-19 ในรอบสุดท้าย ตนหาข้อมูลมาพบว่าเป็น จ.นครราชสีมา ซึ่งให้ นพ.สสจ. สืบหาข้อเท็จจริง และให้นิติกรของจังหวัดเข้าไปดูแล พบว่ามีข้อมูลปรากฏ เป็นการสนทนาทางแอพพลิเคชั่นไลน์ มีชื่อผู้เสียหายและมีผู้หลอกลวงชัดเจน และเมื่อตรวจสอบ พบว่ามีการฉ้อโกงผู้เสียหายให้ลงเชื่อ ให้ได้รับประโยชน์ในการบรรจุข้าราชการ

“ความเป็นมาคือมี พยาบาลซึ่งเป็นผู้น้องได้รับการบรรจุ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 และญาติได้ไปส่งที่อำเภอ และพบผู้ที่เรากล่าวหา ญาติก็ได้บอกว่า ถ้ามีการบรรจุให้ส่งข่าวด้วย เพราะมีพี่สาวอีกคน หลังจากนั้นผู้ที่เรากล่าวหาก็ไลน์ไปบอกว่า ช่วยบรรจุได้ เรียกร้องเงิน 5 แสนบาท แต่ผู้ที่พี่สาวไม่สนใจ มองว่ามีการทุจริต หลอกลวง” นพ.พงศ์เกษมกล่าว

นพ.พงศ์เกษมกล่าวว่า ทางจังหวัดยังไม่มีการเปิดรับสมัครใด ดังนั้น จึงเกิดความเสียหายต่อ สธ. และ สสจ.นครราชสีมา โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการ สธ.ที่ถูกแอบอ้าง ความผิดดังกล่าวมีความผิดรุนแรงอย่างมาก เพราะการบรรจุมีหลักการชัดเจน ตามกฎ ก.พ. มีคณะกรรมการชัดเจน ไม่ได้แสวงหาประโยชน์ใด การเข้าไปสืบหาข้อเท็จจริง การกระทำดังกล่าวมีมูลความผิดทางอาญาและลงบันทึกประจำวันว่าเป็นผู้เสียหาย แจ้งความร้องทุกข์ 2 ส่วน คือ นิติกรสาธารณสุขจังหวัด และเจ้าตัวผู้เสียหาย อยู่ในชั้นพิจารณาของพนักงานสอบสวนว่าจะส่งสำนวนคดีไปยังพนักงานอัยการหรือไม่ ทางกฎหมายเป็นการกระทำที่มีมูล สามารถดำเนินการทางวินัยร้ายแรงได้ตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 คือการไล่ออก และ ปลดออก

นพ.พงศ์เกษมกล่าวว่า โดยที่จะต้องพิจารณาคือ ผู้ที่เรียกรับเงินนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้พิจารณาการบรรจุข้าราชการรุ่นสู้โควิด-19 หรือไม่ หากเป็นกรรมการด้วย จะเข้าข่ายการทุจริตในหน้าที่ ผิดตามมาตรา 157 ซึ่งมีโทษหนัก ทั้งไล่ออกจากราชการ และจำคุก แต่หากไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบรรจุข้าราชการ ก็จะผิดฐานประพฤติชั่วร้ายแรง ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ไล่ออก และดำเนินคดีอาญาต่อไป ทั้งนี้ตามระเบียบการสอบวินัยจะใช้เวลา 180 วัน แต่กรณีนี้คาดว่าจะใช้เวลาเร็วประมาณ 30 วัน เพราะมีหลักฐานชัดเจน

ผู้สื่อข่าวถามว่า พบการกระทำความผิดเช่นนี้ในผู้เสียหายรายอื่นหรือไม่ นพ.ยงยศกล่าวว่า ขณะนี้มีรายงานเพียง 1 ราย เนื่องจากยังไม่มีการแจ้งข้อมูลจากรายอื่นเข้ามา

ต่อข้อถามว่า มีการย้ายข้าราชการรายดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากผู้เสียหายมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย นพ.ยงยศกล่าวว่า นพ.สสจ.จะดำเนินการ 2 ส่วน คือ 1.ย้ายข้าราชการรายดังกล่าว และ 2.หากผู้เสียหายรู้สึกไม่ปลอดภัย ก็ย้ายไปใน รพ.ชุมชน หรือหน่วยบริการในจังหวัดได้ จะต้องทำให้เสร็จภายในวันนี้

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image