สปสช. แจง ชะลอจ่ายเงินรพ.เอกชน 156 ล้าน ปกป้องภาษีปชช. หากเบิกถูกต้อง จะโอนคืนทันที

สปสช. แจง ชะลอจ่ายเงินรพ.เอกชน 156 ล้าน ปกป้องภาษีปชช. หากเบิกถูกต้อง จะโอนคืนทันที

เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. และ นายนิมิตร์ เทียนอุดม อนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขอันเป็นเท็จ ร่วมกันแถลงข่าว กรณี สปสช.ชะลอจ่ายเงินโรงพยาบาล(รพ.)เอกชน และคลินิกชุมชนอบอุ่น เนื่องจากการตรวจสอบพบทุจริตเบิกจ่ายงบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคของกองทุนบัตรทอง

นายนิมิตร์ กล่าวว่า จากกรณี รพ.เพชรเกษม2 ร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก สปสช. ในการชะลอจ่ายเงินทุกกองทุนให้กับ รพ. กรณีดังกล่าวตนมีความเห็นว่า สปสช.และประชาชน ก็ต้องร้องขอความเป็นธรรมด้วยเช่นกัน เพราะประชาชนถูกแอบอ้างในการเบิกจ่ายงบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคกองทุนบัตรทอง และ สปสช. ก็ต้องลุกขึ้นมาป้องกันภาษีของประชาชน และตรวจสอบว่าภาษีนั้นถูกนำไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ส่วนการชะลอเบิกจ่ายงบกองทุนอื่นของคลินิก เป็นมาตรการสำคัญในการปกป้องประโยชน์ของสาธารณและของประชาชน พร้อมทั้งมีการระบุไว้ในสัญญาว่าสามารถชะลอการเบิกจ่ายได้ ทั้งนี้จึงไม่ได้กระทำโดยพลการแต่อย่างใด

“ที่จะต้องชะลอจ่ายเพราะต้องมั่นใจว่าเงินที่ถูกโกงไปจะได้คืน ถ้าทาง สปสช.ยังจ่ายเงินให้อยู่ ผมก็จะเล่นงาน สปสช.เอง และเราให้ความเป็นธรรมโดยมีอนุกรรมการอีกชุดดูแลการเบิกจ่าย และลงมติว่าขอตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ในจำนวนคลินิก 18 แห่งแรก 66 แห่งหลัง และอีก 107 แห่ง มีรวมกว่า 900,000 ใบเคลม ซึ่งขณะนี้ตรวจสอบแล้วเสร็จเกือบ 90% หากพบว่าส่วนใดทุจริตก็จะเรียกคืนเงินทั้งหมด แต่หากไม่เกี่ยวข้องทางคลินิกก็จะต้องได้รับเงินเบิกจ่ายตามปกติ โอนเลยไม่ได้เพราะไม่มีหลักประกันว่าเราจะได้เงินคืน แต่เบื้องต้นพบว่า 60% ไม่มีเวชระเบียนในการเบิกจ่าย มีหลักฐานส่อทุจริตจริง แต่ขอเวลาตรวจสอบเพิ่มเติม เพื่อหาว่า มีการเบิกเท็จหรือแก้ไขข้อมูลหรือไม่ ซึ่งจะไล่เรียงรายคลินิก ยืนยันว่าให้ความเป็นธรมกับทุกฝ่ายและไม่มีการเลือกปฏิบัติ และคาดว่าจะแล้วเสร็จครบถ้วนเร็วๆ นี้” นายนิมิตร์ กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวว่า กรณีของ รพ.เพชรเกษม2 มีการส่งเบิกมากว่า 15,000 ฉบับ พบว่า ไม่มีเวชระเบียน 8,200 ฉบับ มีเวชระเบียน 5,600 ฉบับแต่เมื่อตรวจสอบพบว่า 3,000 ฉบับ มีปัญหา เช่น การแก้ไขข้อมูล การระบุวันคัดกรองไม่ตรงกับวันส่งตรวจโรค และมีเพียง 1,800 ฉบับที่ถูกต้อง ทั้งนี้อนุกรรมการฯ ดำเนินการตรงไปตรงมา ขณะนี้จึงดำเนินการชะลอการเบิกจ่ายไปแล้วใน 18 คลินิกที่ตรวจสอบครั้งแรก อีก 66 คลินิกที่รวม 3 คลินิกทันตกรรมแล้ว และ 107 คลินิกเพิ่มเติม รวมทั้งสิ้น 190 แห่ง พบว่ามีความผิด 189 แห่ง และมี 1 แห่งที่ไม่มีความผิด เนื่องจากมีการส่งเบิกมาเพียง 1 รายการและเป็นการเบิกท่ีถูกต้อง การชะลอเบิกจ่ายทั้งหมดรวมมูลค่า 198 ล้านบาท ซึ่งจากการตรวจสอบใบเคลมกว่า 900,000 ฉบับดังกล่าว ได้ดำเนินการชะลอไปแล้ว 156 ล้านบาท และยังรอการตรวจสอบให้ครบต่อไป

Advertisement

นพ.การุณย์ กล่าวว่า ขอชี้แจงใน 3 ประเด็นที่มีการร้องต่อนายกรัฐมนตรี ประเด็นที่ 1 การยกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ยืนยันว่า สปสช.ดำเนินการเพื่อปกป้องภาษีของประชาชน เพื่อให้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเด็นที่ 2 การชะลอโอนเงินรายรับทุกกองทุน ยืนยัน ว่าสามารถกระทำได้ และไม่ได้ชะลอเกินความเป็นจริง ในส่วนนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบประเมินมูลหนี้ และตรวจสอบว่าเป็นรายได้พึงรับจริงหรือไม่ ประเด็นที่ 3 การกระทำที่เป็นการเลือกปฏิบัติ ขอชี้แจงว่า สปสช.ตรวจสอบ รพ.ทั้งหมดและที่อื่นๆ อยู่ในแผนของอนุกรรมการฯ ในการตรวจสอบช่วงเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ทั้งนี้อนุกรรมการฯ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน แต่เป็นคนนอก ที่ประกอบจากหลายส่วน เช่น ดีเอสไอ กระทรวงสาธารณสุข สมาคมรพ.เอกชน

“โดยที่มีการกล่าวว่าเงินที่ชะลอไป สำนักงานนำไปใช้อย่างอื่น นำไปซื้อยานพาหนะ หรือต่างๆ ขอยืนยันว่าเงินที่ชะลอก็ยังอยู่ในกองทุนเช่นเดิม ซึ่งตามมาตรา 39 สำนักงานไม่สามารถนำเงินของกองทุนออกมาใช้ได้แม้แต่บาทเดียว เงินงบประมาณ มี 2 ส่วน คือ งบกองทุน ซึ่งสำนักงานไม่สามารถใช้ได้ และงบบริหาร ที่สามารถนำมาใช้ได้” นพ.การุณย์ กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวว่า สบส.ได้ตั้งคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจ ที่มี ทพ.อาคม เป็นประธาน ขึ้นมา 4 ชุด ชุดละ 7-10 คน เพื่อตรวจสอบคลินิกทุกแห่ง โดยชุดที่ 1 ตรวจสอบคลินิก 18 แห่งแรก ได้แจ้งความร้องทุกข์ที่กองปราบฯ ไปแล้ว ในความผิดคดีอาญา ตามมาตรา 73 ในการทำหลักฐานอันเป็นเท็จที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท และการดำเนินคดีปกครอง สั่งปิดไป 2 แห่งจาก 18 แห่ง โดยขณะนี้คลินิกหลายแห่งทำการทยอยปิดตัวเอง อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถให้ปิดได้ทั้งหมด เนื่องจากคณะอนุกรรมตรวจสอบข้อเท็จจริงมีนโยบายให้ตรวจสอบเพิ่มเติมและตรวจย้อนหลัง 10 ปี จึงเกรงว่า หากปิดไปแล้วหลักฐานต่างๆ ก็หายไปด้วย ชุดที่ 2 ตรวจสอบคลินิก 66 แห่งขณะนี้ดำเนินการแล้ว 55 แห่งและอยู่ในการประมวลผลและแจ้งความร้องทุกข์ โดยผู้ได้รับอนุญาตบางรายให้การยอมรับว่ากระทำความผิดจริง ซึ่งช่วยลดระยะเวลาของเจ้าพนักงานตรวจสอบได้ เบื้องต้นพบว่ามี 3 แห่งเป็นคลินิกทันตกรรม มีความเสียหายมูลค่ารวมกันสูงถึง 60 ล้านบาท โดยมี 1 แห่งให้การยอมรับ ปิดตัวลง 1 แห่ง และโอนกิจการไปให้ผู้อื่นแล้ว 1 แห่ง

Advertisement

ด้าน ทพ.อาคม กล่าวว่า การตรวจสอบหาข้อเท็จจริงในการเบิกจ่าย ประกอบด้วย การตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการ เช่น การดูแลสุขภาพฟันในเด็กอายุ 6-20 ปี ที่ต้องอุดร่องฟัน ป้องกันฟันพุ เป็นการเคลือบผิวฟันกราม แต่พบว่าในการเบิกจ่ายระบุมาว่าเคลือบผิวฟันหน้า ซึ่งเป็นการทำหลักฐานการรักษาพยาบาลที่ไม่สอดคล้องกับการแพทย์ และไม่เป็นไปตามมาตรฐาน อย่างไรก็ตามขอเตือนผู้ประกอบที่จะซื้อขายกิจการ ว่า แม้จะโอนกิจการแล้ว แต่หลักฐานของผู้ป่วยยังคงอยู่ในคลินิกแห่งเดิม เมื่อมีการเรียกตรวจสอบหรือผู้ป่วยต้องการประวัติการรักษา ผู้ประกอบการรายใหม่จะต้องหาหลักฐานมาแสดงให้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image