เปิดเวทีถก แบน 3 สารพิษเกษตร ประชาชนต้องร่วมบอยคอต

เปิดเวทีถก แบน 3 สารพิษเกษตร ประชาชนžต้องร่วมบอยคอต

ประเด็นเรื่องแบน 3 สารพิษ คือ ไกลโฟเซต พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงเป็นอย่างมากเมื่อปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกการใช้ 3 สารพิษนี้ไปแล้ว แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรทบทวนใหม่ สุดท้ายแบน 2 ตัว และอีก 1 ตัว จำกัดการใช้

ขณะนี้ผ่านไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง แบน 3 สารพิษ ต่อชีวิตคนไทยŽ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 มี นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช., นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมอภิปราย

นายวิฑูรย์กล่าวว่า มีการนำเสนอข้อมูลเรื่องพิษภัยของ 3 สารเคมี กันไปมาก เช่น คลอร์ไพริฟอส ที่พบการตกค้างมากที่สุด และมีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ไกลโฟเซต เป็นสารก่อมะเร็ง หรือพาราควอต มีฤทธิ์เฉียบพลันสูงกว่าฟูราดาน 43 เท่า และยังมีพิษเรื้อรังก่อโรคพาร์กินสัน


Advertisement

“งานวิจัยจำนวนมาก พบว่าสิ่งมีชีวิต เช่น ปู ปลา หอย ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน พบการตกค้างในผลไม้แม้ว่าเกษตรกรจะไม่ได้ใช้กับผลไม้โดยตรง สะท้อนว่าพาราควอตสะสมในสิ่งแวดล้อม และเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่อาหาร รวมทั้งการตรวจสอบของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็พบการตกค้างในผักถึง 1 ใน 4 ของตัวอย่างที่ตรวจ และพบการตกค้างในสายรกของทารก แม้ว่าแม่จะไม่ได้ทำเกษตรโดยตรงก็ตาม เรื่องเหล่านี้ประเทศทางยุโรปรู้ และยกเลิกใช้เมื่อ 13 ปีก่อน ส่วนประเทศอื่นๆ ทยอยแบนจนปัจจุบันมีถึง 61 ประเทศ แม้แต่ประเทศใหญ่ๆ ที่เป็นผู้ผลิตพาราควอตเองก็ยังแบน” นายวิฑูรย์กล่าว

นายวิฑูรย์กล่าวว่า เมื่อมีประกาศแบน 3 สารพิษดังกล่าวในประเทศไทย ในเดือนตุลาคม 2562 ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ มีข้อสั่งการให้ทบทวนจึงเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมาก เพราะพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยประกาศสนับสนุนให้แบน

“แต่พอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯทบทวนการแบน ในฐานะพรรคการเมืองแล้วเป็นเรื่องที่อธิบายสังคมไม่ได้ และในเชิงการบริหารแผ่นดินก็ทำแบบเด็กเล่นไม่ได้ เพราะการแบนยังไม่มีผลเลย แต่กลับจะทบทวนแล้ว การแบนมีผลกระทบกับเกษตรกรจริง แต่ต้องมองภาพใหญ่ก่อน นายกรัฐมนตรีบอกว่าสุขภาพต้องมาก่อน ผลโพลต่างๆ ก็พบว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนให้แบน เมื่อประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุน หน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ไม่ใช่ไปทบทวนมติ แต่ต้องหาทางเลือกและสนับสนุนเกษตรกรให้ปรับตัวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ถ้านึกวิธีไม่ออก ให้ไปดูมาเลเซียกับเวียดนาม ที่แบนพาราควอตก่อนไทย”Ž นายวิฑูรย์กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ นายวิฑูรย์กล่าวว่า งานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในพื้นที่สวนยางและสวนปาล์ม พบว่ามีการใช้สารเคมีร้อยละ 10-30 ที่เหลือใช้เครื่องจักรตัดหญ้า หรือที่มาเลเซียใช้พืชคลุมดินผสมผสานกับการใช้เครื่องมือจักรกล ทำให้มีผลพลอยได้คือ ได้ปุ๋ยธรรมชาติ เฉลี่ย 20 กิโลกรัมต่อไร่

“ในเชิงวาทกรรม รัฐบาลพูดถึงเกษตรอินทรีย์ แต่พอทำจริง จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่างบประมาณที่ใช้กับโครงการระยะสั้น มีเกษตรกรที่เข้าถึงกว่าร้อยละ 90 คิดเป็นเงินกว่า 70,000 ล้านบาท แต่เกษตรกรที่เป็นเกษตรอินทรีย์เข้าถึงเพียงร้อยละ 0.3 นี่คือปัญหาเชิงระบบ ดังนั้น ปัจจัยที่จะทำให้ระบบการเกษตรมีความยั่งยืน และเป็นมิตรกับสุขภาพอย่างแรก คือ การกระจายอำนาจ ตัวอย่าง จ.ยโสธร มีการทำเกษตรอินทรีย์มาก สามารถเพิ่มจาก 80,000 ไร่ เป็น 3-4 แสนไร่ ทั้งๆ ที่มีการสนับสนุนแค่ร้อยละ 0.3 ต่อมาคือ จัดการงบให้สนับสนุนเกษตรอินทรีย์มากขึ้น และที่สำคัญคือ พลังของผู้บริโภคจะทำให้เกิดการแบนอย่างจริงจัง เลือกผลิตภัณฑ์ที่มาจากบริษัทที่ไม่ใช้สารเคมี”Ž นายวิฑูรย์กล่าว และว่า หากสามารถยืนหยัดกับแนวทางเหล่านี้ได้ เชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 10 ปีข้างหน้า

ด้าน น.ส.สารีกล่าวว่า เหตุผลที่ต้องซีเรียสเรื่องสารเคมี เพราะถ้าดูแต่ละครอบครัว อย่างน้อยต้องมี 1 คน ที่มีประวัติเกี่ยวกับมะเร็ง และต้นทางของโรคคือ อาหารการกิน อย่างไรก็ดี ในกรณี 3 สารพิษนี้ ถือเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ที่ประเทศผู้ผลิตไม่ใช้ แต่กลับส่งออกมาให้เราใช้ เรื่องนี้ไม่ควรให้เกิดขึ้น ดังนั้น ควรเป็นหลักการพื้นฐานในการแบนทั้ง 3 สารพิษนี้


“การที่บริษัทผู้ผลิตฟ้องศาลปกครองก็ไม่เกินความคาดหมาย แต่การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ให้ทบทวนการแบน เราโกรธมาก ถ้าทำได้ดีแล้วไม่ควรถอยหลัง กระทรวงเกษตรฯควรส่งเสริมหรือสนับสนุนเกษตรกรให้มีทางเลือกอื่นๆ ในฐานะผู้บริโภคไม่ต้องการสารเคมีตัวใหม่มาทดแทน แต่ต้องการให้เปลี่ยนวิธีการผลิตที่เป็นมิตรและปลอดภัย และควรเป็นทิศทางของประเทศ”Ž น.ส.สารี กล่าวและว่า หากดูภาพรวม นโยบายของกระทรวงเกษตรฯไม่ได้สนับสนุนเกษตรทางเลือก เกษตรผสมผสาน หรือเกษตรอินทรีย์เช่น การซื้อปุ๋ย ถ้าไม่ใช่ปุ๋ยเคมีเบิกกองทุนไม่ได้ หรือเครื่องจักรแพงเพราะต้องเสียทั้งภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่สารเคมีไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ซื้อได้ง่ายกว่า

น.ส.สารี กล่าวว่า ขณะเดียวกัน การออกประกาศเรื่องจำกัดการใช้ไกลโฟเซต เช่น คนซื้อต้องผ่านการอบรม คนขายต้องแยกขายจากสารเคมีอื่นๆ ก็ทำยากในทางปฏิบัติ จากการสำรวจของมูลนิธิผู้บริโภคใน 17 จังหวัด พบว่ามีคนที่ทำได้ร้อยละ 13 นอกนั้นทำไม่ได้เลย สะท้อนว่าไม่สามารถจำกัดการใช้ได้จริงและไม่มีทางเลือกอื่นเลยนอกจากต้องแบนสารตัวนี้

“เราควรใช้หลักการว่า เมื่อประเทศผู้ผลิตยังไม่ใช้ เราก็ไม่ควรใช้ นี่เป็นจริยธรรมขั้นพื้นฐาน และประเทศไทยควรผลักดันหลักการนี้อย่างจริงจัง ยังยืนยันว่าไม่ได้ต้องการสารเคมีตัวใหม่ แต่อยากให้เปลี่ยนวิธีการผลิตที่เป็นมิตรกับผู้บริโภค ซึ่งเกษตรกรอาจต้องปรับตัว ใช้เครื่องจักรมากขึ้น กระทรวงเกษตรฯต้องสนับสนุนในจุดนี้ และตั้งเป้าให้มีสัดส่วนสินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งเรียกร้องหน่วยงานตรวจสอบด้วยว่า ถ้าตรวจพบสารตกค้างต้องบอกยี่ห้อด้วย เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้มีข้อมูลในการตัดสินใจ”Ž น.ส.สารีกล่าว

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวว่า จุดยืนของคนที่อยู่ในวงการสาธารณสุขชัดเจนว่าเรื่องสุขภาพมาอันดับ 1 เสมอ หัวใจของระบบหลักประกันสุขภาพคือ การทำให้คนไม่เจ็บป่วย ไม่ใช่ป่วยแล้วค่อยมารักษา ซึ่งทั้ง 3 สารพิษนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนสุขภาพ จากข้อมูลพบว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วย 2,000-3,000 กว่าคน ที่ต้องนอนโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการรักษาเฉลี่ย 15-20 ล้านบาท/ปี และยังมีผู้ป่วยนอกอีกจำนวนมาก รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายทางอ้อม เช่น ค่าเดินทาง ค่ากินระหว่างเฝ้าไข้ เป็นต้น

“เราพบว่า ภาคเหนือมีความรุนแรงของเรื่องสารพิษสูงมาก รองลงมาคือ ภาคอีสาน และผลกระทบนอกจากเกษตรกรที่ร่างกายสัมผัสกับสารพิษแล้ว ยังมีกลุ่มเด็กที่ได้รับผลกระทบต่อ IQ และ EQ ดังนั้น การที่อาหาร ผัก ผลไม้ปนเปื้อน สะสมในร่างกาย จะพบปรากฏการณ์ที่มีโรคใหม่ๆ ที่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นในคนวัยนี้ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ในคนอายุ 20 กว่าปี พบการชักในคนอายุน้อย เรื่องเชาวน์ปัญญาเด็ก ฯลฯ ดังนั้น สปสช.ในฐานะมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้คนไทยเจ็บป่วย มีจุดยืนชัดเจนว่าเรื่องเหล่านี้มีผลทั้งเฉียบพลันและระยะยาว ทำอย่างไรจะละเลิกสิ่งเหล่านี้ แล้วไปหาทางเลือกอื่นๆ ให้พืชผักปลอดภัย”Ž นพ.ศักดิ์ชัยกล่าว

นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า การที่จะผลักดันมาตรการการแบน และการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคอย่างยั่งยืน ผู้บริโภคต้องบอยคอตผลิตภัณฑ์ที่มีสารตกค้าง จะเป็นแรงขับสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับตัว ขณะนี้เริ่มเห็นกลุ่มที่รับซื้อเฉพาะอาหารปลอดสารตกค้าง มีร้านอาหารที่เน้นเรื่องสุขภาพ เห็นกลุ่มชมรมผู้สูงอายุที่ทำอาหารสุขภาพกินกันเอง นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจะเป็นปัจจัยสำคัญ สปสช.ซึ่งมีเครือข่ายท้องถิ่นในรูปแบบของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น (กปท.) หรือกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลกว่า 7,000 ตำบล พบว่ามีกว่า 2,000 ตำบล ที่ขับเคลื่อนเรื่องเกษตรปลอดภัย เป็นตัวอย่างสะท้อนว่าการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคสามารถทำได้จริง

ดังนั้น ประชาชนที่สนใจขับเคลื่อนในเรื่องนี้ สามารถรวมกลุ่มทำเป็นโครงการของบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image