อว.ชู ‘โค-แพะ-ไก่เบตง’ ฟื้น ศก.ฐานราก แก้วิกฤตยากจนชานแดนใต้ เผยแหล่งโปรตีนของโลกยังผลิตไม่เพียงพอ

อว.ชู 3 สัตว์เศรษฐกิจ ‘โค-แพะ-ไก่เบตง’ ฟื้นเศรษฐกิจฐานราก แก้วิกฤตยากจนชานแดนใต้ เผยแหล่งโปรตีนของโลกยังผลิตไม่เพียงพอ ตั้งเป้าถ่ายทอดเทคโนโลยี 900 ผู้ประกอบการนราธิวาส ปัตตานี ยะลา พัฒนา 26 ผลิตภัณฑ์ สู่เชิงพาณิชย์ 15 ผลิตภัณฑ์ ชี้ปี 65 มีโรงเชือดและโรงงานแปรรูปต้นแบบที่ได้มาตรฐาน

เมื่อวันที่ 15 กันยายน ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในการเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตด้านการเกษตร “การเพิ่มมูลค่าการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน” จัดโดยสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี (สส.) อว.ที่ จ.นราธิวาส ว่า อว.ต้องนำองค์ความรู้จากหน่วยงานทั้งหมดรวมทั้งมหาวิทยาลัยกว่า 200 หน่วยงาน ไปช่วยประชาชนในพื้นที่ขาดแคลน เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ต่างๆ ให้แข็งแรงเพื่อช่วยแก้วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น โดยมุ่งในเรื่องของอาหารและการเกษตร โดยเฉพาะปศุสัตว์ เพราะปัจจุบันการผลิตอาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรตล้นเกินกว่าความต้องการของคนทั้งโลก แต่สิ่งที่ยังขาดแคลนคือโปรตีน ยังผลิตไม่เพียงพอ และแหล่งโปรตีนสำคัญคือโปรตีนจากสัตว์ แต่ก็มีความเสี่ยงสูง ต้องใช้เวลาหลายปี ไม่เหมือนปลูกข้าวแค่100 วันก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ ดังนั้น ทำอย่างไรจึงจะเพิ่มมูลค่าให้กับสัตว์ และขณะเดียวกันก็ต้องลดความเสี่ยงจากการลี้ยงลงให้ได้ ด้วยเหตุนี้ สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี จึงนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาและยกระดับการเลี้ยงปศุสัตว์ นำร่อง 3 ชนิด คือ โค แพะ และไก่เบตง ที่ปลอดภัยและมาตรฐานในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน รวมทั้งนำนวัตกรรมมาแปรรูปให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านธุรกิจอาหารฮาลาลเพิ่มขึ้น มีกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบอาชีพปศุสัตว์ 750 ราย แบ่งเป็น ปัตตานี 250 ราย ยะลา 250 รายและนราธิวาส 250 ราย

รองปลัด อว.กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการตามที่ผู้ประกอบการในพื้นที่มีความต้องการคือ 1.ควรจัดให้มีโรงฆ่าสัตว์ (โค) ที่ได้มาตรฐานตามกฎหมายเพื่อรองรับการผลิต ตัดแต่ง และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โคเนื้อของผู้ประกอบการปศุสัตว์ ตลอดจนการจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ 2.ควรพัฒนามาตรฐานการผลิตนมแพะด้วยการจัดตั้งโรงเรือนผลิตต้นแบบที่ได้มาตรฐานองค์การอาหารและยา (อย.) และมาตรฐานสินค้าฮาลาลเพื่อสนับสนุนการขยายตลาดผลิตภัณฑ์นมแพะให้เติบโตมากยิ่งขึ้น ภายใต้การกำกับดูแลและควบคุมของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ และ 3.ควรสร้างความต่อเนื่องของการดำเนินโครงการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการปศุสัตว์ในพื้นที่อย่างเป็นระบบ

Advertisement

ด้านนางวนิดา บุญนาคค้า ผอ.สส.กล่าวว่า สส.ตั้งเป้าหมายของโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตด้านการเกษตร ปีงบประมาณ 2563 โดยจำนวนเกษตรกรที่ได้รับการถ่ายทอด 600 ราย จำนวนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนา 26 ผลิตภัณฑ์ จำนวนเกษตรกรที่มีรายได้เพิ่มขึ้น 240 ราย ปีงบประมาณ 2564 จำนวนเกษตรกรที่ได้รับการถ่ายทอด 300 ราย ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ได้รับการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ 15 ผลิตภัณฑ์ เกษตรกร/ผู้ประกอบการที่ได้รับการถ่ายทอดนวัตกรรมการผลิตมีรายได้เพิ่มขึ้น 150 ราย กลุ่ม/วิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ 5 รายและปีงบประมาณ 2565 จะมีโรงเชือดและโรงงานแปรรูปต้นแบบที่ได้มาตรฐาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image