กรมสุขภาพจิตชี้ไทยต้องรับมือ โรคติดเกม เร่งสื่อสารสังคมเห็นผลเสีย

กรมสุขภาพจิตชี้ไทยต้องรับมือ โรคติดเกม เร่งสื่อสารสังคมเห็นผลเสีย

วันนี้ (17 กันยายน 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันปัญหาเกมออนไลน์และการติดเกมเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงในสังคมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน สำหรับในประเทศไทย จากการสำรวจของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ในปี 2556 พบว่า มีเด็กติดเกมมากถึง 2.5 ล้านคน จากจำนวนเด็ก 18 ล้านคนทั่วประเทศ และในปีงบประมาณ 2560 พบว่าปัญหาพฤติกรรมเสพติดเกมส่วนใหญ่ เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่พบในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 6-18 ปี ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชนิดของเกม เช่น เกมประเภท First Personal Shooting, MOBA และ SPORTS game competition เป็นหลัก โดยเฉลี่ยเด็กและวัยรุ่นใช้เวลาเล่นเกมนาน 5 ชั่วโมงต่อวัน และเล่นเกมแข่งขันต่อสู้ออนไลน์ 1-4 เกมสลับกันไป

นพ.สมัย กล่าวว่า คาดว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาสำคัญในอนาคต กรมสุขภาพจิตจึงประกาศเจตนารมณ์คุ้มครองเยาวชน ป้องกัน และแก้ไขปัญหาติดเกมของเยาวชนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มติดเกม โดยกำหนดประเด็นการรณรงค์ให้สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก คือ “เครียดได้ คลายเป็น เล่นเกมแต่พอดี”

“ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมมือกันในการดูแลเด็กและเยาวชน ซึ่งมีความตระหนักว่าสังคมไทยต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับ โรคติดเกม ที่จะส่งผลกระทบต่อสมอง พัฒนาการ และพฤติกรรมของเด็ก ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์โดยจะรวมพลังทางสังคมในการดำเนินการป้องกันและควบคุมการบริโภคเกมที่มีผลต่อสมอง พัฒนาการและพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน สร้างความตระหนักถึงผลเสียและเรียนรู้การใช้อย่างเหมาะสมแก่เด็กครอบครัว และครู สร้างระบบเฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาให้เข้าถึงบริการ” นพ.สมัย กล่าว

ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตมีเป้าหมายที่จะยกระดับการดำเนินงานสุขภาพจิตวัยรุ่นและเยาวชน และส่งเสริมความรอบรู้ และสร้างความตระหนักถึงผลกระทบเกี่ยวกับเกมออนไลน์และการติดเกมให้แก่วัยรุ่นและเยาวชน รวมทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลเด็กและเยาวชน โดยจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการสร้างความตระหนักผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับเกมออนไลน์และการติดเกม ประกอบด้วย การบรรยายสถานการณ์การติดเกมในปัจจุบัน เวทีเสวนา “การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับเกมออนไลน์และการติดเกม” การบรรยายเรื่อง ความรู้เรื่องเด็กติดเกม และ การพัฒนาเครื่องประเมินระดับความรุนแรงของภาวะติดเกม

Advertisement

“การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน มีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย คณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิต บุคลากรสาธารณสุข บุคลากรในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) บุคลากรหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สมาคม มูลนิธิ และองค์กรเอกชน ความร่วมมือในครั้งนี้ เป้าหมายที่สำคัญเพื่อช่วยกันดูแลส่งเสริมให้นักเรียนมีสุขภาพจิตที่ดีอันเป็นพื้นฐานสำคัญการเรียนรู้ ที่ให้มีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจภายใต้สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เพราะถึงโลกและเทคโนโลยีจะต้องเปลี่ยนไป แต่การส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กไทยต้องแข็งแรง” พญ.ดุษฎี กล่าว

พญ.ดุษฎี กล่าวว่า การประเมินพฤติกรรมติดเกมนี้ เป็นกระบวนการสำคัญและแนวทางในการวินิจฉัยเบื้องต้น (baseline data) สำหรับบุคลากรการแพทย์ ที่สามารถช่วยแบ่งระดับความรุนแรงออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ภาวะปกติ ภาวะติดเกมระดับน้อย ภาวะติดเกมระดับปานกลาง และ ภาวะติดเกมระดับรุนแรง ก่อนนำไปสู่การพิจารณาวางแผนการรักษา และช่วยเหลือเด็กและวัยรุ่นที่มีความผิดปกติพฤติกรรมเล่นเกมในแต่ละระดับได้อย่างเหมาะสมในอนาคต โดยการดำเนินการในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อีกด้วย

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image