นฤมล ถกร่วมเอกชน ยกระดับแรงงานฝีมือคุณภาพ รองรับ 12 อุตสาหกรรมของปท.

นฤมล ถกร่วมเอกชน ยกระดับแรงงานฝีมือคุณภาพ รองรับ 12 อุตสาหกรรมของปท.

วันนี้ (17 กันยายน 2563) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมแนวทางการพัฒนาแรงงานภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ร่วมกับสถานประกอบกิจการใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม 37 หน่วยงาน เพื่อรับฟังปัญหาด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และความต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับสถานประกอบกิจการในการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศ

นางนฤมล กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) มีมาตรการช่วยเหลือและให้สิทธิประโยชน์แก่สถานประกอบการ ตามหลัก “สร้าง-ยก-ให้” เพื่อสร้างแรงงานทั่วไปและนักศึกษาอาชีวะคุณภาพที่มีความรู้และทักษะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน สถานประกอบกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรม S-Curve เพื่อรองรับอุตสาหกรรม S-Curve ทั้ง 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเขตพัฒนาพิเศษในปี 2563 ยกระดับฝีมือแรงงานให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจนผ่านเกณฑ์มาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อให้ได้รับอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้น อีกทั้งให้แรงงานกลุ่มเปราะบางเข้าถึงการพัฒนาฝีมือแรงงาน ด้วยการฝึกอบรมทักษะฝีมือ เพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพให้สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ ให้มีอาชีพ มีรายได้อย่างยั่งยืน มีความเข้มแข็ง และมีคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาวของแรงงานและครอบครัว

นางนฤมล กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 วิกฤตเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี กพร. จึงมีแนวทางที่จะสร้าง Training Platform เพื่อแนะนำหลักสูตรพัฒนาทักษะที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ตลอดจนนำหลักสูตรการฝึกอบรมออนไลน์ทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งหมดในประเทศไทยมาไว้ที่เดียว สำหรับปีงบประมาณ 2564 มีเป้าหมายที่จะพัฒนาฝีมือแรงงาน 4.13 ล้านคน ดำเนินการโดย กพร. กว่า 1.3 แสนคน และส่งเสริมสถานประกอบกิจการดำเนินการ 4 ล้านคน นอกจากนี้ กพร. ยังมีมาตรการที่จะช่วยเหลือสถานประกอบกิจการ คือ กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงกระตุ้นและจูงใจให้สถานประกอบการพัฒนาลูกจ้างของตน

Advertisement

“จากการประชุมพบว่า ผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรมได้ขอให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานช่วยเหลือด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน เช่น ร่วมกับกระทรวงศึกษา กำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานโดยเฉพาะในกลุ่ม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตอีอีซี ตลอดจนสร้างฐานข้อมูลตลาดแรงงานที่เป็น Big data โดยให้สถานประกอบการระบุความต้องการแรงงานในสาขาต่างๆ เพื่อให้ภาครัฐนำไปกำหนดหลักสูตรการฝึกอบรมที่ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงบูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและลดขั้นตอนการทำงาน” นางนฤมล กล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังขอให้พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในรูปแบบใหม่ทั้งทักษะพื้นฐานและเพิ่มเติมทักษะด้านภาษา เช่น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น เนื่องจากภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจเปลี่ยนตาม สำหรับผลการหารือวันนี้จะนำเข้าสู่คณะกรรมการ (กพร.พช) เพื่อขับเคลื่อนต่อไป

นางนฤมล กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน ได้ร่วมประชุม High – level Ministerial Conference on Human Resources Development for the Changing Word of Work ผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอเร้นซ์ กับ H.E Dato Lim Jock Hoi, Secretary-General of ASEAN Secretariat, Director General Guy Ryder of the ILO, Honorable Chair of ALMM and Chair of ASED, Honorable Ambassadors from ASEAN Member States ทั้งนี้ จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยี ส่งผลกระทบต่อภาคแรงงานและการจ้างงาน ทำให้ประเด็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญอย่างมาก

“สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต เนื่องจากกำลังแรงงาน คือปัจจัยสำคัญของความยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจ กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) มีหน้าที่กำหนดนโยบายและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการฝึกทักษะฝีมือแรงงาน ประกอบด้วย ตัวแทนจากภาครัฐและภาคเอกชน” นางนฤมล กล่าวและว่า กพร. มีพระราชบัญญัติ  (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนในการจัดหลักสูตรฝึกอบรม ให้ลูกจ้างของตนเอง โดยสถานประกอบกิจการจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ การลดหย่อนภาษี การเข้าถึงกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน

Advertisement

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังมีการกำหนดให้จัดงาน Job Expo Thailand 2020 ในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ เพื่อจัดหาตำแหน่งงานที่ว่าง การจับคู่งานระหว่างตำแหน่งงานว่างและคนหางาน การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และการส่งเสริมการจ้างงานแก่เยาวชนที่เพิ่งจบการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ การรับรองแผนสำหรับปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผู้นำ ASEAN Summit ครั้งที่ 36 เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการเริ่มต้นการปฏิบัติตามแผนการดำเนินงานเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งแนวทางการดำเนินงานในปี 2573 จะทำให้อาเซียนมีเวลาเพียงพอที่เตรียมการด้านทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคต

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image