นฤมล เล็งเพิ่มทักษะคนพิการ สร้างอาชีพ มีรายได้ เสริมเศรษฐกิจประเทศ

นฤมล เล็งเพิ่มทักษะคนพิการ สร้างอาชีพ มีรายได้ เสริมเศรษฐกิจประเทศ

วันนี้ (18 กันยายน 2563) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังร่วมหารือกับ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน นายประหยัด ทรงคำ ผู้อำนวยการมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ จ.เชียงใหม่ นายณรงค์ศักดิ์ อัจฉรานุวัฒน์ อธิบดีศาลแรงงานภาค 1 สระบุรี และ นางพวงทอง ศรีวิลัย ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสังวาลเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่กระทรวงแรงงาน ว่า การพัฒนาทักษะฝีมือให้กับคนพิการ เป็นภารกิจของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และตนมีนโยบายการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่กำลังแรงงานของประเทศทุกกลุ่มเป้าหมาย ตามแนวทาง สร้าง ยก ให้ ซึ่งการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับคนพิการ จะอยู่ในส่วนของการให้ คือการให้โอกาสแก่กลุ่มเปราะบาง ให้ได้รับความช่วยเหลือและเข้าถึงบริการของภาครัฐได้อย่างทั่วถึง ทั้งคนพิการ ผู้สูงอายุ แรงงานกลุ่มสตรี ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต และการทำงานของกลุ่มอุตสาหกรรม

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญ มอบหมายให้กระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ตั้งแต่การเพิ่มทักษะและส่งเสริมการจ้างงานคนพิการที่อยู่ในวัยทำงานอายุระหว่าง 15 – 60 ปี มี 819,550 คน ประกอบอาชีพ 271,916 คน คนพิการในวัยทำงานที่สามารถประกอบอาชีพได้ แต่ยังไม่ได้ประกอบอาชีพ 330,339 คน และมีคนพิการในวัยทำงานที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ 217,295 คน นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าการประกอบอาชีพของคนพิการจะอยู่ในอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างคิดเป็นร้อยละ 78 ซึ่งคนพิการส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามชนบท (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2560)” นางนฤมล กล่าว

Advertisement

นายประหยัด กล่าวว่า ระหว่างปี 2560 -2561 มีครอบครัวคนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมจากศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนไปแล้ว 4 รุ่น จำนวน 547 ครอบครัว นำความรู้ไปประกอบอาชีพในเขตภาคเหนือและภาคกลาง หลักสูตรที่ดำเนินการจัดฝึกอบรม เช่น การเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน การเลี้ยงจิ้งหรีด การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ การเกษตรอินทรีย์ การแปรรูปการตลาด การบัญชีและการจัดการ เป็นต้น โดยในแต่ละหลักสูตรจะเป็นการฝึกในภาคทฤษฎี 93 ชั่วโมง และมีการฝึกปฏิบัติ 507 ชั่วโมง รวม 600 ชั่วโมง (100 วัน) หลักสูตรดังกล่าวได้รับการรับรองจาก กพร. ในปี 2561 มีคนพิการและผู้ดูแลคนพิการมากกว่า 500 คน ยื่นขอรับความช่วยเหลือจากมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ขอรับการอบรมอาชีพอิสระหรือได้รับการจ้างงาน

“วันนี้ได้ขอความช่วยเหลือกระทรวงแรงงานผลักดันและประสานกับสถานประกอบกิจการให้ความร่วมมือรับคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการเข้าทำงาน โดยเฉพาะสถานประกอบกิจการที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในเชิงนโยบาย ขอให้ช่วยผลักดันและประสานงานกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้เงินกองทุนดังกล่าว เพื่อฝึกอบรมและจ้างงานให้มากขึ้น” นายประหยัด กล่าวและว่า
หากคนพิการได้รับการช่วยเหลือและฟื้นฟูสมรรถภาพด้านต่างๆ ที่เหมาะสม จะช่วยให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในสังคมโดยไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image