จิตแพทย์เผยคนไทยฆ่าตัวตายพุ่งจากปี’62 ชี้เหตุหลักปัญหาครอบครัว-เศรษฐกิจ

จิตแพทย์เผยคนไทยฆ่าตัวตายพุ่งจากปี’62 ชี้เหตุหลักปัญหาครอบครัว-เศรษฐกิจ

วันนี้ (18 กันยายน 2653) นพ.จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถิติของการฆ่าตัวตายสำเร็จในคนไทย รายงานล่าสุดของกรมสุขภาพจิต ปี 2563 ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม พบว่ามีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ จำนวน 2,810 ราย ซึ่งเป็นอัตราที่สูงขึ้นจากปี 2561-2562 ถึงร้อยละ 17.9 โดยข้อมูลปี 2562 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 2,382 ราย อัตราเฉลี่ยที่ 6.3 รายต่อแสนประชากร โดยคาดว่าสิ้นปี 2563 จะมีอัตราเฉลี่ยที่ 7-8 รายต่อแสนประชากร ช่วงอายุเฉลี่ยประมาณ 20-40 ปี

นพ.จุมภฎ กล่าวว่า สาเหตุการฆ่าตัวตายไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุเดียว แต่เกิดจากหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่สาเหตุหลัก คือ 1.สัมพันธภาพในครอบครัว การทะเลาะเบาะแว้ง ร้อยละ 51 2.ปัญหาความเครียดจากเศรษฐกิจ ร้อยละ 36 3.ปัญหาความเครียดจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง ร้อยละ 30 และ 4.ปัญหาการติดแอลกอฮอล์ ร้อยละ 22 ทั้งนี้ในช่วงต้นปี ปัญหาความเครียดจากเศรษฐกิจเป็นสาเหตุลำดับที่ 4 แต่เมื่อมีวิกฤตโควิด-19 ที่มีผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ ทำให้สาเหตุดังกล่าวนำหน้าขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 2 และยังเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัวอีกด้วย

“ปัญหาของคนไทยคือเมื่อเริ่มเครียด หรือเริ่มป่วย แต่ไม่กล้าไปพบแพทย์ ซึ่งจริงๆ แล้วกรมสุขภาพจิตแนะนำให้มาพบแพทย์ทันทีที่เริ่มเกิดปัญหา หรือความเครียด ส่วนใหญ่ปัจจัยที่ทำให้เกิดคิดฆ่าตัวตายไม่ได้มาจากปัจจัยเดียว เช่น บางรายมีปัญหาครอบครัวอยู่แล้วและเจอปัญหาเศรษฐกิจ หรือ เมื่อมีปัญหาเศรษฐกิจ ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาการติดสุรา” นพ.จุมภฎ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.จุมภฎ กล่าวว่า สัญญาณเตือนที่สำคัญคือ พฤติกรรมหรือกิจวัตรประจำวันเปลี่ยนไป สิ่งใดที่เคยทำ เช่น ทำงาน ดูรายการโทรทัศน์ ออกกำลังกาย ก็จะไม่ทำเหมือนเช่นเดิม ละเว้นการปฏิบัติไป ซึ่งหากผู้ที่รู้ตัวเองว่าพฤติกรรมเปลี่ยนไปก็ควรจะหาเวลาให้กับตัวเอง เพื่อออกจากความเครียด พักผ่อนความคิดให้มากขึ้น และหากมีความคิดที่อยากฆ่าตัวตาย อย่าเก็บความรู้สึกเหล่านั้นไว้คนเดียว ควรหาคนที่ไว้ใจได้พูดคุยและระบายความทุกข์ออกมา ซึ่งการได้เล่าสิ่งที่อึดอัดอยู่ในใจให้ใครซักคนหนึ่งฟัง จะช่วยให้มีความรู้สึกที่ดีขึ้นอย่างมาก และที่สำคัญคือ ผู้ที่มีความเครียดและครอบครัว ควรรับฟังกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image