สกัดผู้ป่วยลมชักก่อเหตุทางถนน สธ.จ่อชงกรมขนส่งปรับเกณฑ์ทำใบขับขี่

สกัดผู้ป่วยลมชักก่อเหตุทางถนน สธ.จ่อชงกรมขนส่งปรับเกณฑ์ทำใบขับขี่

วันนี้ (21 กันยายน 2563) ที่อิมแพ็คอารีนา เมืองทองธานี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ( สธ.) เปิดเผยว่า ล่าสุดอยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลเพื่อเสนอเรื่องไปยังกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม อนุญาตให้ผู้ป่วยโรคลมชักที่ควบคุมได้ดี สามารถทำใบอนุญาตขับขี่ได้

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ในระหว่างส่งเรื่องไปยังกรมการขนส่งทางบก โดยปกติแล้วการทำใบขับขี่นั้นจะต้องมีใบรับรองแพทย์ แต่ในการตรวจร่างกายขอใบรับรองแพทย์ สามารถติดต่อขอจากแพทย์ได้หลายคน ซึ่งผู้ป่วยอาจจะไม่ได้บอกว่าตนเองมีโรคลมชักด้วย ดังนั้น กรณีนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเสนอหลักการ และ สธ. กำลังดำเนินการหาระบบเพื่อแก้ไขปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม การแจ้งโรคประจำตัวให้กับแพทย์ที่ทำการตรวจร่างกายเพื่อขอใบรับรองแพทย์นั้น ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม

“เบื้องต้นหลักการคือ ผู้ป่วยโรคลมชักที่ควบคุมอาการได้ดีภายใน 1 ปี จะต้องไม่มีอาการชักเลย จึงสามารถทำใบขับขี่ส่วนบุคคลได้ ส่วนในใบขับขี่สาธารณะ จะต้องเป็นผู้ที่ควบคุมโรคได้ดีและไม่มีอาการชักนานถึง 10 ปี” นพ.สมศักดิ์ กล่าวและว่า แต่ประเด็นของปัญหาคือ ปัจจุบันใบรับรองแพทย์จะขอจากแพทย์ที่ไหนก็ได้ ไม่ใช่แพทย์ที่เป็นผู้รักษาโรคลมชักของผู้ป่วย จึงไม่มีประวัติการป่วย ดังนั้นจะต้องมีการหาแนวทางแก้ไขปัญหา ก่อนนำเสนอต่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ในฐานะที่ดูแลกระทรวงคมนาคมด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นนิตินัย

ผู้สื่อข่าวถามถึงอัตราความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุในการขับขี่ของผู้ป่วยโรคลมชัก นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หากเทียบตัวเลขของอุบัติเหตุ 1,000 ครั้ง จะพบว่า มี 1-10 ครั้ง หรือร้อยละ 0.1-1 เกิดจากการขับขี่ของผู้ป่วยโรคลมชัก ดังนั้น หากผู้ป่วยโรคนี้จะมีความสามารถในการขับขี่ได้ จะต้องเป็นผู้ที่ควบคุมการชักได้ดีและได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image