ร.ร.พยาบาลรามาฯ สถาบันอุดมศึกษาต้นแบบสังคมปลอดบุหรี่

ร.ร.พยาบาลรามาฯ สถาบันอุดมศึกษาต้นแบบสังคมปลอดบุหรี่

วันนี้ (23 กันยายน 2563) โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าว “โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันอุดมศึกษาต้นแบบเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่”

 

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ กล่าวว่า บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่เป็นอันตราย เป็นภัยร้ายต่อสุขภาพตัวเอง และส่งผลร้ายต่อคนใกล้ชิด คนในครอบครัวเดียวกันเอง ภัยร้ายจากบุหรี่จะก่อให้เกิดโรคมากมาย เช่น โรคมะเร็ง โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ที่ผ่านมาเรามักได้ยินคำว่า บุหรี่มือสอง และบุหรี่มือสาม ในตัวบุหรี่เองจะมีควันที่อยู่ในอากาศได้นาน 48 ชั่วโมง ส่วนควันบุหรี่มือสองเป็นอันตรายกับเด็กในครรภ์และเด็กทารก ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะการเจริญเติบโตช้า ควันบุหรี่มือสามมักจะตกค้างอยู่ภายในบ้านและทำให้สมาชิกในบ้านป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ที่น่ากลัวคือมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ มากกว่า 50,000 คนต่อปี เหล่านี้เป็นสิ่งย้ำเตือนใจได้เป็นอย่างดีในการรับผิดชอบตัวเองและต่อคนรอบข้างได้อย่างชัดเจน

Advertisement

“คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ มีการดำเนินการควบคุมบุหรี่อย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2561 โดยประกาศให้คณะแพทยศาสตร์ฯ เป็นเขตปลอดบุหรี่ 100% พร้อมกับการส่งเสริม และหาแนวทางเพื่อเอื้อให้บุคลากรสามารถเข้าถึงกระบวนการช่วยเหลือเพื่อการเลิกสูบบุหรี่ได้ง่ายขึ้น จึงได้มีการวางแผนงานเพื่อสนับสนุนและผลักดันนโยบายปลอดบุหรี่อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แผนงานการขับเคลื่อนนโยบายมีความครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 การประกาศนโยบายขององค์กรให้เป็นที่ประจักษ์ ด้านที่ 2 การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การรณรงค์ให้ทราบถึงพิษภัยของบุหรี่ทั้งบุคลากร นักศึกษา ผู้รับบริการ และชุมชน ด้านที่ 3 การสนับสนุนให้บุคลากรทีมสุขภาพมีส่วนร่วมในการบำบัด ฟื้นฟู และสร้างแนวทางให้กับผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ได้เข้าถึงง่ายขึ้น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนให้ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีเป็นสถาบันอุดมศึกษาต้นแบบเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เพื่อที่จะพัฒนาหลักสูตรฯ และพัฒนาให้นักศึกษาเป็นผู้นำในการควบคุมยาสูบต่อไป” ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าว

ศ. นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ กล่าวว่า Smoke free Thailand หรือ ประเทศไทยปลอดบุหรี่ เราต้องดำเนินการกับทั้งผู้สูบรายเก่า และป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ต้องทำให้การสูบบุหรี่กลายเป็นเรื่องไม่ปกติ ลดอัตราการสูบบุหรี่ ช่วยให้เลิกบุหรี่และปกป้องผู้ไม่สูบบุหรี่โดยเฉพาะเด็ก จากการผลกระทบของควันมือสองด้วยการสร้างนโยบายและกรอบกฎหมายที่มั่นคง เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตยืนยาวและมีสุขภาพที่ดี สารนิโคตินในบุหรี่เป็นสารอันตราย นอกจากมีฤทธิ์ที่ก่อให้เกิดการเสพติดแล้ว ยังก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ รวมถึงโรคมะเร็งในอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย การสูบบุหรี่ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งก่อให้เกิดไฟไหม้ เกิดขยะจากก้นบุหรี่ โดยใช้เวลาเป็น 10 ปี กว่าจะย่อยสลาย การสูบบุหรี่ยังก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ทั้งปี มูลค่ารวมขั้นต่ำประมาณ 87,289 ล้านบาท นับเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีจะเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาต้นแบบเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ มาช่วยกันร่วมแรงร่วมใจ ทำให้ประเทศไทย มุ่งสู่สังคมปลอดบุหรี่กัน

Advertisement

รศ.สุปาณี เสนาดิสัย นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี และประธานเครือข่ายพยาบาลเพื่อการควบคุมยาสูบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การควบคุมยาสูบนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ควบคุมเฉพาะคนสูบอย่างเดียว ควันบุหรี่มือสอง ควันบุหรี่มือสามก็ต้องได้รับการควบคุม  ในการเรียนการสอนหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตได้สอดแทรกเนื้อหาการควบคุมยาสูบเข้าไปในชั่วโมงเรียน อันเป็น 1 ใน 14 ข้อจรรยาปฏิบัติของบุคลากรวิชาชีพสุขภาพในการควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก 2547/2004 ที่ประกาศไว้ชัดเจน ขอให้พยาบาลวิชาชีพยึดถือเสมอว่า การควบคุมยาสูบเป็น
สัญญาณชีพที่ 6 (the sixth vital signs) นอกเหนือจากอุณหภูมิ ชีพจร การหายใจ ความดันโลหิต และความเจ็บปวด เมื่อพยาบาลวิชาชีพขึ้นปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วยจะต้องซักประวัติว่าสูบบุหรี่หรือไม่

“ฉะนั้น กิจกรรมการพยาบาลเพื่อการควบคุมยาสูบผ่านการประเมินตามหลัก 5A 5R ในการช่วยเลิกบุหรี่ สามารถทำได้ทุกครั้งที่ขึ้นปฏิบัติการพยาบาล การที่โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นสถาบันอุดมศึกษาต้นแบบเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ จะทำให้ได้บัณฑิตพยาบาลที่มีความรู้ ทักษะและทัศนคติที่ดีในเรื่องการควบคุมยาสูบ ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสำคัญในทีมสหสาขาวิชาชีพสุขภาพที่ทำให้การควบคุมยาสูบนั้นประสบความสำเร็จได้ พยาบาลเป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้รับบริการ ซึ่งสามารถประเมินปัญหาความต้องการของผู้รับบริการได้ว่า ผู้ที่สูบบุหรี่มีแรงจูงใจอะไรที่จะทำให้เขาเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ” รศ.สุปาณี กล่าว

รศ. พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินการเพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี จึงต้องการพัฒนาให้โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาต้นแบบเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ โดยได้ดำเนินการบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการควบคุมการบริโภคยาสูบในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตในทุกรายวิชาและทุกชั้นปี แต่ไม่เพิ่มหน่วยกิต มีการจัดกิจกรรมมหกรรมสุขภาพในสถานบริการสุขภาพให้กับผู้รับบริการในโรงพยาบาล โดยนักศึกษาพยาบาล ร่วมกับคณาจารย์ของโรงเรียนฯ เพื่อให้ความรู้ และส่งเสริมกิจกรรมการช่วยเลิกบุหรี่ รวมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์ด้านการควบคุมยาสูบในชุมชน สถานศึกษา และโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังได้ทำวิจัยเกี่ยวกับการควบคุมยาสูบทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ จัดกิจกรรมคลินิกช่วยเลิกบุหรี่อย่างต่อเนื่อง และสาขาการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิตได้จัดให้มีการให้คำปรึกษาแก่นักศึกษา บุคลากร หรือผู้ใกล้ชิดของนักศึกษาและบุคลากรที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่อย่างเป็นระบบ

น.ส.กัลย์ธิมา ภูโสภา ประธานชมรมปลอดบุหรี่ นักศึกษาพยาบาลรามาธิบดีชั้นปีที่ 2 กล่าวว่า นักศึกษาพยาบาลรามาธิบดีได้ร่วมจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของบุหรี่ตั้งแต่ปี 2562 โดยมีตัวแทนชมรมปลอดบุหรี่เข้าร่วมประชุมเครือข่ายพยาบาลเพื่อควบคุมยาสูบแห่งประเทศไทย แล้วยังเน้นการ
จัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า โทษของบุหรี่ พร้อมทั้งชมรมนักศึกษาพยาบาลรามาธิบดีสร้างสังคมบุหรี่ ได้จัดกิจกรรม ให้ความรู้เกี่ยวกับบุหรี่มือหนึ่ง  มือสอง มือสาม ซึ่งได้มีแผนในการจัดกิจกรรมต่อเนื่องในปี 2563 ที่เน้นเชิงรุกกับนักศึกษาพยาบาลรามาธิบดีให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นแกนนำสำคัญในการช่วยสังคมให้ปลอดบุหรี่ต่อไปในอนาคต

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image