กทม.แจงเหตุท่วมหน้า อสมท.ชี้ฝน 100 มม.รับไม่ไหว แถมที่เอกชน

กทม.แจงเหตุท่วมหน้า อสมท.ชี้ฝน 100 มม.ระบบรับไม่ไหว แถมที่เอกชนจัดการไม่ได้

วันนี้ (24 กันยายน 2563) นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเขตห้วยขวาง แถลงที่ศูนย์บริหารจัดการน้ำกรุงเทพมหานคร สำนักการระบายน้ำ กทม.2 (ดินแดง) ถึงกรณีมีฝนตกหนัก และเกิดน้ำท่วมขังรอระบาย ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 23 กันยายน ว่า สำนักการระบายน้ำ กทม.ได้ตรวจพบกลุ่มฝนก่อตัวด้านทิศเหนือของกรุงเทพฯ ในพื้นที่เขตหลักสี่ เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เคลื่อนตัวเข้าพื้นที่ชั้นกลาง โดยกลุ่มฝนมีขนาดปานกลางถึงหนักกระจายหลายจุด

“จากการตรวจวัดปริมาณฝนพบว่า พื้นที่ที่มีฝนตกสูงสุดตามลำดับ ได้แก่ เขตดินแดง ปริมาณฝน 100มิลลิเมตร (มม.) เขตพญาไท ปริมาณฝน 99 มิลลิเมตร และเขตห้วยขวาง ปริมาณฝน 83 มิลลิเมตร จากทั้งหมด 11 จุด โดยมี 2 จุด ที่ใช้เวลาในการระบายไม่เกิน 2.30 ชั่วโมง ได้แก่ ถนนประชาสุข เขตดินแดง และถนนกำแพงเพชร 2 บริเวณหมอชิตใหม่ ที่เหลือใช่เวลาระบายไม่เกิน 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีความห่วงใยในปัญหาที่เกิดขึ้น จึงมอบหมายให้สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขตพื้นที่เร่งระบายน้ำในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่องโดยเร็ว” นายณรงค์ กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวว่า สำหรับพื้นที่เขตดินแดง ห้วยขวาง ราชเทวี กทม.มีอุโมงค์มักกะสันช่วยระบายน้ำ รวมถึงอุโมงค์บางซื่อที่ช่วยบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ดังกล่าวด้วย ส่วนจุดอื่น เช่น ถนนดินแดง กทม.ได้ก่อสร้างบ่อเก็บน้ำใต้ดินบริเวณซอยศิริพร จึงไม่พบปัญหามากนัก ซึ่งฝนได้หยุดตกทุกพื้นที่ในช่วง 03.00 น. ของเช้าวันนี้ (24 กันยายน 2563) อย่างไรก็ตาม ถนนตามตรอก ซอก ซอยต่างๆ ที่ยังมีน้ำเร่งระบายนั้นก็ได้เร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ ส่วนใหญ่ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว แต่หากยังมีจุดน้ำรอระบายอยู่ขอให้ประชาชนแจ้งเพิ่มเติมได้ เพื่อที่ทาง กทม.จะรีบเข้าไปดำเนินการแก้ไขต่อไป

Advertisement

“สำหรับสถานการณ์ฝนที่ตกเมื่อวันที่ 23 กันยายน นั้น ถึงแม้ฝนจะตกหนักมาก โดยตกเป็นเวลาสั้นๆ แต่มีปริมาณฝนมากกว่า 100 มิลลิเมตร นอกจากนี้ ยังเกิดไฟดับที่บ่อสูบน้ำ 3 – 4 แห่ง ซึ่งสำนักการระบายน้ำได้ประสานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เข้าแก้ไข เพื่อให้บ่อสูบสามารถดำเนินการระบายน้ำต่อได้ อย่างไรก็ดี ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง หรือการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ จำเป็นต้องมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ ภาคประชาสังคมในการสอดส่องและร่วมมือไม่ให้เกิดปัญหาในการระบายน้ำ” นายณรงค์ กล่าว

ด้าน นายอนุชิต กล่าวว่า สำหรับกรณีน้ำท่วมขังบริเวณซอยพระราม 9 ซอย 7 (ซอยทวีมิตร อสมท.) กทม.ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง บริเวณปากซอย 7 เพื่อดึงน้ำเข้าสถานีสูบน้ำฝั่งตรงข้ามเพื่อลงคลองสามเสน ซึ่งในการทำงานมีปัญหาอุปสรรค คือ กทม.ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการปรับปรุงระบบท่อและถนนได้ เนื่องจากพื้นที่อยู่ในความดูแลของหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งยังไม่ได้ยกให้ กทม.ดูแล อีกทั้งเป็นระบบระบายน้ำเก่าที่ไม่ได้บำรุงรักษา และบางบ้านมีการสร้างทางขึ้นทางลาดเข้าบ้านทับทางระบายน้ำ ส่งผลให้น้ำที่ไหลจากจุดที่ต่ำที่สุดไปสู่บ่อสูบน้ำได้ล่าช้า ประกอบกับ ลักษณะของถนนต่ำกว่าถนนพระราม 9 บริเวณกลางซอยมีระดับต่ำกว่าพื้นที่ทั่วไป 90 เซนติเมตร เวลาฝนตกมักมีปัญหาน้ำไหลไปรวมตัวและท่วมขังบริเวณดังกล่าว ซึ่งสำนักงานเขตห้วยขวางได้เดินเครื่องสูบน้ำตั้งแต่เวลา 15.00 น.วันที่ 23 กันยายน

“สำหรับการแก้ไขปัญหานั้นจะต้องดำเนินการปรับปรุงระบบท่อระบายน้ำทั้งหมด แต่ กทม.ยังไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ของเอกชน” ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image