สปสช.ย้ำใช้บัตรทองฟรี ได้ที่หน่วยบริการในระบบทุกแห่ง ไม่ต้องรีบมาลงทะเบียนที่สนง.เขต

สปสช.ย้ำใช้บัตรทองฟรี ได้ที่หน่วยบริการในระบบทุกแห่ง ไม่ต้องรีบมาลงทะเบียนที่ สนง.เขต

กรณีที่มีประชาชนจำนวนมากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) เดินทางไปที่สำนักงานเขตเพื่อทำเรื่องขอย้ายหน่วยบริการประจำหลังจากที่หน่วยบริการเดิมของตนเองถูก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ยกเลิกสัญญาเนื่องจากทุจริตการเบิกจ่ายเงินรายการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

เมื่อวันที่ 26 กันยายน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ขอย้ำว่าอย่าเพิ่งตื่นตระหนก สิทธิของประชาชนในการได้รับการรักษาพยาบาลไม่ได้ถูกยกเลิกตามไปด้วยและ สปสช. ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องรีบไปที่สำนักงานเขตเพื่อทำเรื่องขอย้ายหน่วยบริการประจำแต่อย่างใด จำนวนผู้ได้รับผลกระทบกว่า 1 ล้านคน มีผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล(รพ.)และผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลและรับยาต่อเนื่องประมาณร้อยละ 30 ส่วนอีกร้อยละ 70 คือผู้มีร่างกายแข็งแรง ไม่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในตอนนี้

“กลุ่ม 70% ที่สุขภาพยังแข็งแรงดี เมื่อหน่วยบริการประจำเดิมถูกยกเลิกสัญญาไปแล้ว สถานะของคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นสิทธิว่าง คำว่าสิทธิว่างนี้ ไม่ได้มีความหมายในเชิงลบ แต่หมายถึงเป็นสถานะพิเศษ หรือสิทธิพิเศษที่เป็นเหมือนวีซ่า ที่เมื่อมีอาการป่วยใดๆ ก็สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการในเครือข่าย สปสช. ที่ใดก็ได้ ไม่จำกัดจำนวนครั้งและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาแต่อย่างใด ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหน่วยบริการจะเรียกเก็บค่าบริการมาที่ สปสช. เอง โดยสามารถตรวจสอบสถานะของหน่วยบริการที่อยู่ในระบบได้ที่เว็บไซต์ https://reghosp.nhso.go.th/hospital_search/ ดังนั้นไม่มีความจำเป็นต้องรีบมาที่สำนักงานเขตเพื่อลงทะเบียนขอย้ายหน่วยบริการประจำในช่วงนี้แต่อย่างใด จนกว่า สปสช.จะประกาศอย่างเป็นทางการ” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า กลุ่มผู้ป่วยจำเป็นอีก 30% ที่ต้องได้รับการรักษาใน รพ. เช่น ผู้ป่วยนัดผ่าตัด ผู้ป่วยล้างหรือฟอกไต หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ สปสช.มีฐานข้อมูลที่ชัดเจนและได้มีการประสานไปยังผู้ป่วยโดยตรงแล้ว เพื่อให้สามารถเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง แต่หากเกิดปัญหาขัดข้อง ไม่ได้รับการติดต่อจาก สปสช. ก็สามารถส่งข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ รู้จริงสิทธิบัตรทอง สปสช. กทม. เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ติดต่อกลับโดยเร็ว

Advertisement

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ส่วนกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรับการดูแลต่อเนื่อง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง สปสช.ร่วมมือกับสำนักอนามัย กทม. ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ในระยะสั้นก่อนระหว่างรอหน่วยบริการใหม่ เบื้องต้นผู้ป่วยเรื้อรังที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่งโดยไม่จำเป็นต้องขอใบส่งตัวหรือกลับไปขอประวัติการรักษาจากหน่วยบริการเดิม เพราะบุคลากรทางการแพทย์ของศูนย์บริการสาธารณสุขสามารถเรียกดูข้อมูลประวัติการรักษาจากฐานข้อมูลของ สปสช. ได้อยู่แล้ว

ทั้งนี้ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สำหรับผู้ที่เป็นสิทธิว่างที่ไม่แน่ใจว่าหน่วยบริการที่ต้องการเข้าไปรับบริการอยู่ในเครือข่ายของ สปสช. หรือไม่ สามารถค้นหาข้อมูลสถานพยาบาลทางเว็บไซต์ https://reghosp.nhso.go.th/hospital_search/ และตรวจสอบสถานะของหน่วยบริการแห่งนั้นๆ ว่าเป็นหน่วยบริการที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือไม่ รวมทั้งสามารถติดต่อสอบถามผ่านช่องทางสายด่วน สปสช. 1330 หรือแอพพลิเคชั่นไลน์ @ucbkk และ @nhso

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยกเลิกสัญญากับหน่วยบริการที่ทุจริตเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพนั้น ทำให้มีประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 1 ล้านคน ในส่วนของ 18 คลินิกที่ถูกยกเลิกสัญญาในล็อตแรก มีผู้ได้รับผลกระทบ 2 แสนคน ในส่วนนี้ สปสช.ได้จัดระบบรองรับเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เพิ่งยกเลิกสัญญาในล็อตที่ 2 จำนวน 64 แห่งมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 8 แสนคน

Advertisement

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image