สปสช.เลิกสัญญาคลินิกบัตรทอง ล็อต 3 อีก 108 แห่ง มีผล 1 ตุลาคม

สปสช.เลิกสัญญาคลินิกบัตรทอง ล็อต 3 อีก 108 แห่ง มีผล 1 ตุลาคม

วันที่ 29 กันยายน  ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. และ นายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายประเมินผล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเป็นเท็จ ร่วมแถลงความคืบหน้ากรณีการยกเลิกสัญญากับคลินิกชุมชนอบอุ่นในเครือข่าย สปสช.เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเกินจริง ในล็อตที่ 3 จำนวน 108 แห่ง มีผลในวันที่ 30 กันยายนนี้

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า วันนี้การตรวจสอบหน่วยบริการที่ทุจริตกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ล็อตที่ 3 จำนวน 108 แห่ง ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดยล็อตนี้เป็นคลิกนิกชุมชนอบอุ่นทั้งหมด และได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อกองปราบปรามแล้ว การบอกเลิกสัญญาจะมีผลในวันที่ 30 กันยายนนี้เป็นต้นไป

“สรุปแล้วการตรวจสอบคดีทุจริตของหน่วยบริการได้ดำเนินการยกเลิกสัญญาไปทั้งหมด 3 ล็อต แบ่งเป็น ล็อตที่ 1 จำนวน 18 แห่ง ล็อตที่ 2 จำนวน 64 แห่ง และล็อตที่ 3 จำนวน 108 แห่ง รวม 190 แห่ง ในจำนวนนี้ เป็นโรงพยาบาล (รพ.) 10 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่น 175 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 5 แห่ง ครอบคลุมสิทธิบัตรทองของประชาชนกว่า 2 ล้านราย แต่กระทบผู้ป่วยที่มีการใช้บริการประมาณ 4-5 แสนราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง จำนวน 289,764 ราย แยกเป็น ล็อตที่ 1 จำนวน 25,314 ราย ล็อตที่ 2 จำนวน 120,925 ราย และ ล็อตที่ 3 จำนวน 143,525 ราย” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

Advertisement

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สปสช.จะต้องเข้าไปดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดย 1.จะต้องอำนวยความสะดวกประชาชนให้มากที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดของหน่วยบริการที่ขาดแคลน โดยให้สิทธิพิเศษเป็นสิทธิว่าง สามารถเข้ารับการรักษาในหน่วยบริการของรัฐได้ทุกแห่ง และใน รพ.เอกชนที่อยู่ในระบบของ สปสช. โดยไม่ต้องลงทะเบียนหน่วยบริการประจำ ไม่ต้องสำรองจ่าย และไม่ต้องใช้ใบส่งต่อผู้ป่วย โดยหน่วยบริการต่างๆ สามารถดึงข้อมูลผู้ป่วยได้ผ่านระบบออนไลน์ที่ สปสช.ได้อัพโหลดไว้แล้ว แต่ในบางส่วนที่เป็นข้อมูลเชิงลึก ผู้ป่วยสามารถติดต่อขอประวัติจากคลินิกเดิมได้ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ

 

Advertisement

“ผู้ได้รับผลกระทบ กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่ต้องรักษาใน รพ. ผู้ป่วยล้างไต หญิงตั้งครรภ์ และการผ่าตัดที่นัดไว้แล้ว สปสช.ได้ประสานไปยังผู้ป่วยในการแจ้งหน่วยบริการแล้ว แต่หากรายใดที่ยังไม่ได้รับการประสานไป ก็สามารถติดต่อมาที่ สปสช.ได้ กลุ่มที่ 2 กลุ่มรับยาต่อเนื่อง และกลุ่มที่ 3 กลุ่มโรคเรื้อรัง ที่มีความจำเป็นรับยาเสมอ ก็สามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการของรัฐได้ทุกแห่ง” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า 2.การสื่อสารต่อประชาชน ซึ่งสายด่วน 1330 ได้ขยายคู่สายมากขึ้น เพื่อรองรับการประสานงานที่มากขึ้น พร้อมกับเพิ่มเบอร์ติดต่อ 0 2554 0500 ให้บริการ 24 ชั่วโมง

“ขอย้ำว่าประชาชนที่ไม่มีหน่วยบริการ ไม่จำเป็นต้องไปลงทะเบียนในหน่วยบริการใดๆ ถือว่าให้ท่านได้รับสิทธิพิเศษในการเข้ารับบริการที่ใดก็ได้ที่อยู่ในระบบของ สปสช. ในช่วงเวลาอย่างน้อย 2 เดือนจากนี้ไป ที่อยู่ระหว่างการให้หน่วยบริการประจำให้ท่าน ขณะนี้เครือข่ายประชาชน อาสาสมัครกรุงเทพมหานคร (อสส.) ให้ความร่วมมือในการเข้าไปอธิบายในชุมชนให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น และขอบคุณกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่สนับสนุนช่วยดูแลประชาชนให้เกิดความเข้าใจและให้ความช่วยให้เข้ารับบริการในศูนย์บริการสาธารณสุขจำนวน 69 แห่ง” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการหาสถานพยาบาลรองรับนั้น ขณะนี้มีสถานพยาบาลเอกชนสนใจสอบถามมาเรื่อยๆ และแนวคิดของ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการ รพ.มงกุฎวัฒนะ ก็เป็นแนวคิดที่น่าสนใจที่จะนำมาแก้ปัญหา ซึ่งก็พบว่ามีเอกชนอีกหลายแห่งเสนอมาเช่นเดียวกัน ดังนั้นต้องนำมาพิจารณาและดำเนินการอย่างโปร่งใสที่สุด

ด้าน นพ.การุณย์ กล่าวถึงการยกเลิกสัญญาของ สปสช.กับหน่วยบริการคู่สัญญา ที่กระทำผิดชัดเจนแบบกระบวนการ จำนวน 18 แห่งแรก ว่า เมื่อตรวจสอบต่อเนื่องไปพบว่ามีหน่วยบริการกลุ่มอื่นที่มีความผิดเช่นกันแต่ไม่ใช่กระบวนการ ไม่ได้มีความผิดร้ายแรงและปริมาณไม่มาก แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องดำเนินการในมาตรฐานเดียวกัน จึงต้องดำเนินการยกเลิกเพิ่มเติม

“สปสช.ได้ตรวจสอบคลินิกในกรุงเทพฯ ทุกแห่ง ส่วนที่กระทำผิดก็ได้ยกเลิกสัญญาไปแล้ว และเหลือส่วนที่ไม่ได้กระทำผิดประมาณ 20 กว่าแห่ง ผลกระทบคงไม่มากไปกว่านี้ แม้รู้ว่ายกเลิกแล้วจะกระทบต่อประชาชน แต่มีความจำเป็นที่จะต้องยกเลิก เพื่อรักษางบประมาณแผ่นดินและสิทธิการรักษาของประชาชน ยืนยันว่าประชาชนที่กระทบจริงๆ ประมาณ 3 แสนราย ที่เหลือ 1.7 ล้านราย ไม่ได้กระทบ ดังนั้นท่านที่ไม่ได้เจ็บป่วย ไม่ต้องรีบลงทะเบียน และการตรวจสอบสิทธิสามารถใช้ระบบออนไลน์ได้และในหลายช่องทาง” นพ.การุณย์ กล่าวและว่า จากนี้ สปสช.จะเร่งประกาศรับสมัครผู้ประกอบการรายใหม่เข้าเป็นคู่สัญญา ตั้งเป้าให้แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้

ด้านนายจิรวุสฐ์ กล่าวว่า กรณีการเบิกค่าใช้จ่ายที่มีความผิดปกติ เมื่อตรวจสอบแล้วว่ามีความผิดในการทำเอกสารเท็จก็ได้แจ้งความร้องทุกข์ทางอาญาต่อกองปราบฯ ในคลินิกทุกแห่ง ขั้นตอนต่อไปคือ เจ้าหน้าที่กองปราบฯ จะรวบรวมพยานหลักฐานว่าเป็นความผิดข้อหาใดบ้าง เพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับคลินิก 1.ผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาล หรือเจ้าของ ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา 2.ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือแพทย์ และ หากตรวจสอบพบผู้เกี่ยวข้องอื่นก็จะดำเนินการเอาผิดทั้งหมด และได้ส่งเรื่องให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ด้วย ซึ่งเบื้องต้นทราบว่า สบส.ได้พิจารณาแล้ว พบว่ามีความผิดเช่นเดียวกัน และได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบฯ เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ในการเปิดรับผู้ประกอบการรายใหม่ หากเป็นคลินิกเดิมแต่เปลี่ยนผู้ดำเนินการใหม่ทั้งหมด และตรวจสอบได้ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินการชุดเก่าอย่างสิ้นเชิง ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถให้เข้าสู่ระบบบริการของ สปสช.ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image