สปสช.เร่งหาสถานพยาบาลทดแทนบัตรทอง ตั้งเป้า 500 แห่งใน 1 เดือน

สปสช.เร่งหาสถานพยาบาลทดแทนบัตรทอง ตั้งเป้า 500 แห่งใน 1 เดือน

วันนี้ (4 ตุลาคม 2563) นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการยกเลิกสัญญากับคลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  สปสช.ได้ระดมทรัพยากรจากทุกหน่วยงานในสังกัดมาสนับสนุนภารกิจนี้ เพื่อให้บุคลากรเพียงพอในการลงพื้นที่และแก้ปัญหาหน้างาน โดยตั้งเป้าว่า จะระดมกำลังเร่งรัดขยายหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลปฐมภูมิและคลินิกเอกชนมารองรับประชาชนให้ได้ไม่ต่ำกว่า 500 แห่ง ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ และจะเปิดให้ประชาชนมาลงทะเบียนภายใน 2 เดือน

“การขยายหน่วยบริการปฐมภูมิในขณะนี้ สปสช.เน้นในลักษณะของเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่มีหน่วยบริการหลากหลายประเภทที่ตอบสนองความต้องการรับบริการสาธารณสุขของคนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยจะมีทั้งหน่วยบริการปฐมภูมิเต็มเวลา และหน่วยบริการร่วมให้บริการทั้งในและนอกเวลาราชการ ในรูปแบบของ คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกพยาบาล คลินิกกายภาพ คลินิกแพทย์แผนไทย ร้านขายยา ขย.1 ศูนย์บริการคนพิการ การฟื้นฟูคนพิการ การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เป็นต้น โดยเน้นเป็นเครือข่ายใกล้บ้าน และสามารถให้บริการในเวลาที่ประชาชนสะดวก เช่น หลังเลิกงาน” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สำหรับภาพรวมการใช้บริการของประชาชนสิทธิบัตรทองในหน่วยบริการเอกชนทั้ง 108 แห่ง ที่ถูกยกเลิกสัญญาไปนั้น แบ่งเป็นเคยใช้บริการแบบผู้ป่วยนอก 306,016 ราย คิดเป็นร้อยละ 27 ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จำนวน 143,525 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ สปสช.ดูแลให้ได้รับการรักษาต่อเนื่องแล้ว เช่น การนัดพบแพทย์ การรับยาต่อเนื่อง และ 108 หน่วยบริการที่ถูกยกเลิกล็อตล่าสุดไม่มีผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงหรือเร่งด่วน เช่น ผู้ป่วยไต หรือ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น

“ทั้งนี้ สปสช.ขอย้ำว่าประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกหน่วยบริการในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะได้รับสิทธิพิเศษ สามารถเข้ารักษาได้ทุกที่ โดยไม่ต้องลงทะเบียน หรือขอใบส่งตัว ขณะเดียวกัน กทม.ยังได้จัดทำเว็บไซต์ให้ประชาชนตรวจสอบว่าตนเองได้รับผลกระทบหรือไม่ ซึ่งขณะนี้มีผู้มาตรวจสอบรายชื่อตนเองแล้ว 3,498 ราย” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

Advertisement

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สปสช.ทำงานเชิงรุกในการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ชี้แจงประชาชนตามชุมชนต่างๆ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ไปประจำยังจุดสำคัญๆ ที่ประชาชนจะมาติดต่อ เช่น สำนักงานเขต กทม. ซึ่งมีประชาชนเดินทางมาติดต่อสอบถามหรือขอย้ายหน่วยบริการประจำ สำหรับการชี้แจงข้อมูลในชุมชนนั้น สปสช.ได้จัดประชุมร่วมกับประธานอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ทุกเขตใน กทม. เพื่อเชื่อมประสานข้อมูลกับผู้นำชุมชนในทุกเขต ขณะเดียวกัน ยังมีทีมงานลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจและแนะแนวทางปฏิบัติตามชุมชนที่มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก เช่น เขตยานนาวา เขตคลองสามวา เป็นต้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image