เครือข่ายแรงงานเคลื่อนไหว จ่อยื่นหนังสือจี้เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม 

เครือข่ายแรงงานเคลื่อนไหว จ่อยื่นหนังสือจี้เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม 

วันนี้ (4 ตุลาคม 2563) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในฐานะผู้ประกันตนมาตรา (ม.) 33 และนักเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันกฎหมายประกันสังคม พร้อมด้วย นางอรุณี ศรีโต กรรมการประกันสังคม ฝ่ายลูกจ้าง (บอร์ดประกันสังคม) ร่วมกับ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรม และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ จัดเวทีเสวนา “ฟังเสียงเจ้าของเงิน: ประชาชนต้องมีสิทธิร่วมบริหารประกันสังคม” โดยมีตัวแทนผู้ประกันตนจาก ม.33 ม.39 และ ม.40 เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

นายจะเด็จ กล่าวว่า การต่อสู้ ผลักดันกฎหมายของผู้ใช้แรงงาน จนได้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ.2533 ออกมาบังคับใช้นั้น กฎหมายฉบับนี้ยังมีอุปสรรค เพราะเป็นช่วงรอยต่อจากรัฐธรรมนูญที่ไม่เต็มใบ หรือประชาธิปไตยครึ่งใบ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการแต่งตั้ง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทหาร นายทุน ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ และพยายามต่อต้านมาตลอด

“จุดอ่อนของประกันสังคม คือ โครงสร้างอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ การตรวจสอบจึงทำได้ยาก เงินที่นำไปลงทุน กรรมการบอร์ดที่มาจากฝั่งลูกจ้างจะรับรู้น้อยมาก รู้แค่ว่ามีกำไรขาดทุนเท่าไร แต่จะไม่รู้เลยว่าการลงทุนนี้นำมาสู่การเติบโตอย่างไร หรือเกิดความโปร่งใสได้อย่างไร ตรงนี้จึงเป็นปัญหา เป็นจุดอ่อนของการมีส่วนร่วม เพราะตรวจสอบไม่ได้ พออะไรที่รวมศูนย์อำนาจ การบริหารงานที่นำไปสู่ความโปร่งใสจึงมีน้อย เช่น เกิดการตั้งคำถามของประชาชนต่อกรณีโรงแรมศรีพันวา จ.ภูเก็ต เพราะไม่รู้เลยว่า ธุรกิจที่ประกันสังคมไปสนับสนุนอยู่ เอาเปรียบคนงานหรือไม่ ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่” นายจะเด็จ กล่าว

Advertisement

นายจะเด็จ กล่าวว่า เงินประกันสังคมมีมากถึง 2 ล้านล้านบาท แต่บอร์ดประกันสังคมไม่มีความรู้ ไม่มีศักยภาพในการบริหาร ที่ผ่านมา 30 ปี ไม่เคยมีการปรับปรุงการจัดการบอร์ดประกันคม จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องปฏิรูปให้บอร์ดมาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้ตรวจสอบได้ แต่วันนี้บอร์ดก็ถูก ม.44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดให้บอร์ดฯ ต้องมาจากการแต่งตั้ง

“สิ่งที่ต้องเดินหน้าคือ 1.จะต้องมีเลือกตั้งบอร์ดฯ ใหม่ เพื่อให้ผู้ประกันตน 14 ล้านคน ได้มีสิทธิเลือก ไม่ควรจะยืดเวลา ขอให้ภาครัฐที่บริหารงานอยู่ตอนนี้ เร่งให้เกิดการมีส่วนร่วม 2.ปฏิรูปกฎหมายประกันสังคมให้ชัดเจน มีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้รัฐ มีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่นเดียวกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มีความเป็นอิสระ และ 3.ปฏิรูปเรื่องการบริหารจัดการ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ต้องครอบคลุมคนงานนอกระบบด้วย รวมถึงสวัดิการรักษา ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้ง สปสช.และ ประกันสังคม เพราะเรื่องนี้แรงงานเรียกร้องมานานกว่า 10 ปีแล้ว” นายจะเด็จ กล่าวและว่า วันนี้ สปสช.ที่เป็นองค์กรอิสระ มีสวัสดิการหลายอย่างดีกว่าประกันสังคม และเป็นสิทธิฟรี ดังนั้น ต้องมาดูระบบสุขภาพคนไทยว่าจะเป็นอันเดียวกันได้หรือไม่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และให้เกิดความเท่าเทียมกัน หรืออาจะมีหน่วยงานหนึ่งเกิดขึ้นมาเพื่อดูแลด้านสุขภาพผู้ประกันตนโดยเฉพาะ แยกออกมาจากประกันสังคมที่ดูแลเรื่องสวัสดิการชราภาพ ว่างงาน และสงเคราะห์บุตร

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า เห็นด้วยหรือไม่กับความเห็นที่ว่าผู้ประกันตนถูกเอาเปรียบ นายจะเด็จ กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างมาก เพราะ 1.ที่ผ่านมา ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินทุกเดือน แต่ไม่มีสิทธิเรียกร้อง บอร์ดฯ ไม่ฟัง หรือฟังก็จะฟังในกลุ่มแรงงานที่บอร์ดฯ คุมได้ 2.สิทธิต่างๆ ไม่มีการพัฒนา ซึ่งควรจะต้องมีสิทธิด้านสุขภาพที่ผู้ประตนได้รับประโยชน์ และต้องนำเงินไปดูแลเน้นด้านสวัสดิการของผู้ประกันตนให้มากกว่านี้

ด้าน นางอรุณี กล่าวว่า ประกันสังคมเกิดมา 30 ปี จำเป็นต้องสังคายนา ปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างบริหารจัดการ ปฏิรูปให้ดีขึ้น การบริหารงานต้องเป็นอิสระ เอาคนเก่งจริงๆ เข้ามาบริหาร ให้ทันต่อความต้องการของผู้ใช้แรงงาน

“ช่วงที่แรงงานได้รับผลกระทบจากโรคตืดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ระบบระเบียบเงื่อนไขล่าช้า ไม่ทันต่อสถานการณ์ ทั้งที่ต้องดูแลแรงงานอย่างเฉียบพลันทันที ดังนั้น การมีส่วนร่วม จึงเป็นสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานเรียกร้องมานานกว่า 10 ปี กรรมการบอร์ดประกันสังคมที่มาจากผู้แทนลูกจ้างนายจ้าง อยากให้เกิด 1 สิทธิ 1 เสียง มีโควต้าแรงงานนอกระบบ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สิทธิประโยชน์ไม่เท่ากัน” นางอรุณี กล่าวและว่า กรณีโรงแรมศรีพันวาภูเก็ต ไม่เคยลงลึกหรือแจ้งรายละเอียดให้บอร์ดฯ ทราบ คนที่รู้เรื่องจะมีแค่เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่สำคัญไม่เคยรู้เลยว่าการลงทุนครั้งนี้เขาดูแลลูกจ้างดีหรือไม่อย่างไร ดังนั้นต้องมีเงื่อนไขว่าธุรกิจนั้น ๆ ต้องเคารพศักดิ์ศรี กติกาการเป็นหุ้นส่วนกับแรงงาน จะต้องดูแลแรงงานเป็นมาตรฐานสากล ไม่เอาเปรียบ ไม่จ้างงานผิดกฎหมาย หากตรวจสอบว่าธุรกิจเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน ก็ไม่สมควรที่ประกันสังคมจะไปลงทุนด้วย” นางอรุณี กล่าวและว่า ขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา โปร่งใสตรวจสอบได้ และรับฟังเสียงของผู้ประกันตน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเวทีเสวนามีการเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนจาก ม.33 39 และ 40 ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การร่างหนังสือเปิดผนึกในข้อเรียกร้องต่อประกันสังคม และในวันที่ 7 ตุลาคม เครือข่ายสหภาพแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน จะเดินทางไปยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อบอร์ดประกันสังคม ที่สำนักงานใหญ่ประกันสังคม กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี เพื่อขอความชัดเจนในเรื่องบริหารของประกันสังคมด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image