กรมคุมโรค-ภาคี กำหนดตัวชี้วัดลดอุบัติเหตุทางถนน ตั้งเป้า 50% ในปี’73

กรมควบคุมโรค-ภาคีเครือข่าย กำหนดตัวชี้วัดลดอุบัติเหตุทางถนน ตั้งเป้า 50% ภายในปี’73

วันนี้ (6 ตุลาคม 2563) ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายสุจิณ มั่งนิมิต ที่ปรึกษาศูนย์ปลอดภัยคมนาคม Dr.Liviu Vedrasco ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร และ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก ด้านความปลอดภัยทางถนน และภาคีเครือข่าย ประชุมกำหนดตัวชี้วัดด้านความปลอดภัยทางถนนด้านความปลอดภัยทางถนน ตามกรอบเป้าหมายระดับโลก 12 เป้าหมาย เพื่อเป็นทิศทางในการทำงานของประเทศไทย ให้บรรลุเป้าหมายในการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573

นพ.โอภาส กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนน เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก และเป็นปัญหาของคนไทยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอายุ 15-24 ปี ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ทุกหน่วยงานจึงได้ร่วมกันกำหนดทิศทางของประเทศเพื่อพิชิตปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ให้ได้เหมือนกับที่รับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เป็นเพราะคนไทยทุกคนร่วมมือกัน

“วันนี้จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถเอาชนะปัญหานี้ได้ โดยการนำกรอบที่ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน 12 เป้าหมาย (12 Voluntary Global Road Safety Performance Targets) และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกที่ร่วมกำหนดและรับหลักการนี้มาดำเนินการต่อ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนน จึงเกิดการประชุมในวันนี้ เพื่อร่วมกันกำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญ (indicator) ของแต่ละเป้าหมาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทาง และกลยุทธ์ในการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ นพ.โอภาส กล่าวว่า ภาคประชาชนคือ ส่วนสำคัญ ขอให้ใช้ความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนน ทั้งในช่วงเทศกาลต่างๆ หรือเดินทางในช่วงเวลาปกติ ขอให้คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง ผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งผู้ขับขี่และโดยสาร อย่าลืมสวมหมวกนิรภัย (หมวกกันน็อก) ทุกครั้ง ที่สำคัญ ถ้าพบเห็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หากเป็นไปได้ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บเอง เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายแทรกซ้อนหรือเกิดความพิการได้ ขอให้โทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร.1669 ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ จะเกิดความปลอดภัยกับผู้บาดเจ็บมากขึ้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน โทร.1422

สำหรับการประชุมวันนี้ มีผู้แทนจากหลายภาคส่วนเข้าร่วม อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการขนส่งทางบก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กรมประชาสัมพันธ์ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย สมาคมผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ สมาคมอุตสาหกรรมการยาง เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image