เครือข่ายแรงงานยื่น 6 ข้อ ปฏิรูปประกันสังคม ไม่ทำใน 1 เดือน ฟ้องเป็นคดีตัวอย่าง

เครือข่ายแรงงานยื่น 6 ข้อ จี้ประกันสังคมปฏิรูป ขู่ไม่ทำใน 1 เดือน ฟ้องเป็นคดีตัวอย่าง

วันนี้ (7 ตุลาคม 2563) ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี น.ส.ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน พร้อมด้วย ตัวแทนสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Just Economy and Labor Institute) และเครือข่ายฯ ราว 50-60 คน เข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกถึง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ชุดที่ 13 เรียกร้องให้ปฏิรูปประกันสังคม โดยเพิ่มสัดส่วนให้ตัวแทนจากผู้ประกันตนเข้าร่วมบริหารกองทุนประกันสังคม โดยมีนายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการ สปส. พร้อมด้วย นายมนัส โกศล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ นายธีระวิทย์ วงศ์เพชร บอร์ดประกันสังคมฝ่ายลูกจ้าง เป็นผู้รับหนังสือดังกล่าว

 

นายทศพล ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า จะนำหนังสือที่ได้รับในวันนี้ยื่นต่อบอร์ดประกันสังคมต่อไป

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือเปิดผนึกดังกล่าว มีข้อเสนอทั้งหมด 6 ข้อใหญ่ ดังนี้ 1.ปฏิรูปวิธีการนำเงินประกันสังคมไปลงทุนให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้และมีธรรมาภิบาลยิ่งขึ้น 2.ปฏิรูป สปส.ให้เป็นอิสระอย่างแท้จริง ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมืองและเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม
3.สร้างความยั่งยืนให้กับกองทุนประกันสังคมโดยเร่งรัดให้รัฐบาลชำระหนี้เงินสมทบที่ค้างจ่าย ณ สิ้นปีงบประมาณปี 2563 เป็นมูลค่า 87,000 ล้านบาท ภายในเดือนธันวาคม 2563

4.ปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินการของ สปส. เพื่อเป้าหมายของการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และมุ่งเน้นบริการให้กับกลุ่มที่เปราะบางได้แก่ คนจน ผู้มีรายได้ต่ำ คนชรา และแรงงานในเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ 5.ในกรณีฉุกเฉินจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 และสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ให้ สปส.ตั้งคณะกรรมการพิจารณาความเป็นไปได้ในการนำเงินกองทุนชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน ผู้ประกันตนมีอายุครบเกณฑ์ 55 ปี ภายใต้เงื่อนไข “ยืมแล้วค่อยคืน” หรือคิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราต่ำ ให้ผู้ประกันตนรับผิดชอบ และให้รัฐรับผิดชอบจ่ายส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้จนเท่าอัตรากู้ยืมเชิงพาณิชย์ โดยให้ผู้ประกันตนและประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในทุกขั้นตอน

Advertisement

6.เมื่อรับหนังสือเปิดผนึกฉบับนี้แล้ว สปส.ต้องไม่นิ่งนอนใจหรือเมินเฉยต่อ “เสียง” ของผู้ประกันตนและประชาชนที่เรียกร้องให้มีความเปลี่ยนแปลง โดยกำหนดเส้นตายในการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องข้างต้น อย่างน้อย 3 ข้อใหญ่ ภายใน 1 เดือน นับจากวันรับหนังสือ และให้มีตัวแทนของสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ทำหน้าที่ติดตามการตอบรับข้อเสนอจากตัวแทนของ สปส.อย่างใกล้ชิดด้วย และหากไม่เกิดความคืบหน้า จะดำเนินการฟ้องร้อง สปส.ให้เป็นคดีตัวอย่างต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image