ส.ก.จี้สภากทม.ตั้งทีมติดตามการแก้ปัญหา สปสช.ยกเลิกสัญญา 188 คลินิกบัตรทองในกรุงเทพฯ

ส.ก.จี้สภากทม.ตั้งทีมติดตามการแก้ปัญหา สปสช.ยกเลิกสัญญา 188 คลินิกบัตรทองในกรุงเทพฯ

วันนี้ (7 ตุลาคม 2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2563 ซึ่งมี นายคำรณ โกมลศุภกิจ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ที่ศาลาว่าการ กทม. ดินแดง

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ได้เสนอญัตติขอให้สภา กทม.แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาในการดูแลประชาชนจากกรณีการยกเลิกสัญญาหน่วยบริการสาธารณสุข และการเร่งรัดการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร สืบเนื่องจากกรณีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ประกาศยกเลิกสัญญาหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ตรวจสอบพบการทุจริต โดยได้มีประกาศยกเลิกสัญญาการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ของคลินิกชุมชนอบอุ่นและโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ จำนวน 188 แห่ง ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ จำนวน 16 คน กำหนดพิจารณาภายใน 180 วัน

นพ.พรเทพ กล่าวว่า ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรบัตรทอง จำนวนมากกว่า 2 ล้านคน ที่จะต้องย้ายสิทธิการรักษาไปยังสถานพยาบาลคู่สัญญาแห่งอื่น ส่งผลให้ประชาชนเกิดความสับสนในการใช้บริการด้านการป้องกันรักษาโรคกับหน่วยบริการปฐมภูมิ เนื่องจากไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจน รวมทั้งจะก่อให้เกิดปัญหาความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลของรัฐเพิ่มมากขึ้น ทำให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างล่าช้า และไม่ได้รับความสะดวกในการเข้าไปรับบริการจากสถานพยาบาล

นพ.พรเทพ กล่าวว่า นอกจากนี้ การที่ กทม.ร่วมกับ สปสช.จัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร และได้งบประมาณมารวมแล้วมากกว่า 1,600 ล้านบาท แต่ผ่านมาแล้ว 3 ปี ยังใช้งบประมาณไม่ถึงร้อยละ 10 ทำให้มีแนวโน้มที่จะระงับการจัดสรรงบประมาณให้กองทุน และอาจมีการเรียกเงินกลับด้วย ดังนั้น เพื่อให้ กทม.มีมาตรการรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญาการขึ้นทะเบียนคลินิกชุมชนอบอุ่นและโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ เป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทอง และเพื่อให้ กทม.มีระบบบริการปฐมภูมิที่สามารถดูแลผู้ป่วยบัตรทองได้อย่างมีคุณภาพ เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562

Advertisement

“รวมทั้งเพื่อให้มีการเร่งรัดการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานครอย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอให้สภา กทม.แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาในการดูแลประชาชน จากกรณีการยกเลิกสัญญาหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการเร่งรัดการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร” นพ.พรเทพ กล่าว

ด้าน พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า จากกรณีการยกเลิกสัญญาหน่วยบริการในระบบบัตรทองในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 2,100,000 คน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีประชาชนที่มารับการรักษาและรับยาต่อเนื่องประมาณร้อยละ 10 หรือ 200,000 คน ที่ผ่านมา เลขาธิการ สปสช.ได้เข้าพบผู้ว่าฯ กทม. เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขในเบื้องต้น และพร้อมสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ รวมทั้งงบประมาณแก่โรงพยาบาลสังกัดกทม.และศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง ที่ช่วยเหลือดูแลประชาชน

“อย่างไรก็ดี กทม.มีโครงการพบแพทย์ใน 60 นาที แต่จำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการเพิ่มขึ้น อาจทำประชาชนต้องใช้ระยะเวลาในการรอคอยมากขึ้นไปด้วย การตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ ครั้งนี้ จะทำให้การดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” รองผู้ว่าฯกทม. กล่าว

Advertisement

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image