อนุทินทำตามสัญญาจ่อเซ็นประกาศ สธ.อนุมัติใช้กัญชง ระหว่างรอ พ.ร.บ.กัญชา

อนุทิน ทำตามสัญญาจ่อเซ็นประกาศ สธ.อนุมัติใช้ประโยชน์จากกัญชง ระหว่างรอ พ.ร.บ.กัญชา

วันนี้ (8 ตุลาคม 2563) ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในรูปแบบโรงเรือน (Greenhouse) โดยมีคณะผู้บริหาร สธ. ผู้บริหาร อภ.ร่วมในพิธีจำนวนมาก

นายอนุทิน กล่าวว่า นโยบายกัญชาทางการแพทย์ ถือเป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และเป็นคำสัญญาที่มีให้กับประชาชน แต่สิ่งสำคัญในเรื่องการปลูกกัญชานั้น จะมุ่งไปยังยารักษาโรค นอกจากนี้ สารสกัดจากกัญชายังนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ แต่ไม่ได้เอาไปใช้ทางด้านสารเสพติด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเรามักคิดว่ากัญชาไม่ดี แต่จริงๆ มีข้อดีด้วย รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับนโยบายนี้ เพราะล่าสุดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชาฉบับใหม่ ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) อยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา และส่งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่อไป

“และอีกไม่กี่สัปดาห์ สธ.จะออกประกาศเกี่ยวกับพืชกัญชง เพื่อนำสารสกัดต่างๆ มาใช้ประโยชน์ และจะมีข้อผ่อนคลายต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย ถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการอนุญาตให้ใช้กัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย” นายอนุทิน กล่าวและว่า พืชกัญชง ไม่ใช่พืชที่ถูกกำหนดให้เป็นสารเสพติด มีความคล่องตัวมากกว่ากัญชา สามารถใช้ประกาศกระทรวงฯ ได้ โดยจะเน้นปลูกและเพื่อใช้สารสกัดมาทำประโยชน์ ขณะนี้ ผ่านความเห็นชอบ ครม.แล้ว อยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่างกฎหมาย และจะส่งกลับมาที่กระทรวงฯ

Advertisement

 

นายอนุทิน กล่าวว่า หากส่งเรื่องกลับมาถึงตนเมื่อใด จะลงนามทันที โดยประกาศกฎกระทรวงฯ พืชกัญชง จะล้อไปกับ พ.ร.บ.กัญชา จะมีรัฐวิสาหกิจชุมชน มีคู่สัญญากัน (คอนแทร็ก ฟาร์มมิ่ง) เพื่อให้สามารถปลูกได้ภายใต้สัญญารับซื้อผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากกัญชง ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของ สธ. และกฎระเบียบต่างๆ ทั้งนี้คุณภาพของสารสกัดขึ้นอยู่กับการปลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่ สธ.เน้นย้ำ ให้ความรู้ในการปลูก จึงมีการให้ทำคู่สัญญา เพื่อเป็นหลักฐานวิชาการ และให้เกิดผลผลิตที่มีประโยชน์อย่างเต็มที่

Advertisement

นายอนุทิน กล่าวว่า กัญชาและกัญชงไม่ต่างกัน เพราะสิ่งที่สำคัญคือ สารสกัดที่ได้คือสารซีบีดี (CBD) และสารทีเอชซี (THC) ซึ่งจะได้มากหรือน้อยแค่ไหน ผู้ผลิตจะสามารถผสมสารประโยชน์นั้นๆ ได้ ซึ่ง สธ.จะพยายามปลดล็อกให้ได้มากที่สุด ส่วนการเลือกพื้นที่นำร่องใน 3 จังหวัด คือ ลำปาง บุรีรัมย์ และนครราชสีมา เลือกจากความพร้อมของจังหวัด ซึ่งหากนำร่องใน 77 จังหวัด ได้ ตนก็อยากให้ทำ อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศก็เป็นสิ่งสำคัญ ในโรงเรือนของ อภ.ที่ได้มาดูวันนี้ ก็เป็นรูปแบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม มีการลงทุน ซึ่งไม่เหมือนกับการปลูกในครัวเรือน ซึ่งหากมีการอนุญาตให้ประชาชนปลูกได้ ก็จะปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และภายใต้หลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเรื่องของราคาจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์ อุประทาน กลไกของตลาด

“ที่ผ่านมา นโยบายของพรรคที่ได้ทำ มีความก้าวหน้ามามาก พ.ร.บ.กัญชาฯ ก็ผ่านความเห็นชอบของ ครม.ที่มีพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าผ่านรัฐสภาแล้ว ก็ไม่ต้องมาถามว่ากี่ต้น จะปลูกกี่ต้นก็ได้ ถ้าทำถูกกฎหมาย อย.เป็นผู้รับผิดชอบกฎหมาย ก็จะปรับปรุงระเบียบเพื่อให้เข้าถึงได้ ไม่ให้ติดชัดล่าช้า” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวว่า การดำเนินการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในรูปแบบโรงเรือน (Greenhouse) และกลางแจ้ง (Outdoor) บนพื้นที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรีนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการในระยะที่ 2 เป็นระดับกึ่งอุตสาหกรรมใช้พื้นที่ในการดำเนินการ 1,552 ตารางเมตร รองรับการปลูกกัญชาได้ประมาณ 1,300 ต้นต่อปี เพื่อศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะปลูก ตลอดจนพัฒนาสายพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ที่ให้สารสำคัญสูงและเหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทย และจะสามารถลดต้นทุนการผลิตช่อดอกกัญชาในอนาคต

“โดยเน้น 3 สายพันธุ์ลูกผสมที่จำเป็นทางการแพทย์ ทั้งสารซีบีดีเด่น สารทีเอชซีเด่น CBD : THC (1:1) และสายพันธุ์ไทย ดำเนินการปลูกในโรงเรือน มี 3 ระบบ ได้แก่ ระบบที่ 1 โรงเรือนแบบลดอุณหภูมิด้วยการระเหยน้ำ (Pad and fan) จำนวน 1 โรงเรือน โดยการติดตั้งพัดลมดูดอากาศผ่านแผ่นทำความเย็นเพื่อให้น้ำระเหยเป็นไอน้ำ น้ำจะดูดซับพลังงานจากอากาศในรูปของความร้อนแฝง ทำให้อากาศที่สูญเสียความร้อนไปกับการระเหยของน้ำมีอุณหภูมิต่ำลง จึงเป็นระบบที่สามารถลดอุณหภูมิได้และมีต้นทุนต่ำ แต่ไม่สามารถควบคุมความชื้นได้ เหมาะสำหรับปลูกกัญชาทางการแพทย์ในช่วงระยะเจริญทางลำต้น” ผู้อำนวยการ อภ. กล่าว

นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า ระบบที่ 2 โรงเรือนแบบผสมผสานควบคุมอุณหภูมิและความชื้น (Hybrid air conditioner and dehumidifier: HAC) 1 โรงเรือน เป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นได้ดี รวมทั้งกรองอากาศและป้องกันโรค เช่น ราชนิด botrytis และราแป้ง โดยระบบเอชเอซีมีการทำงานผสมผสานระหว่างระบบไฟฟ้าปรับอากาศ ที่ใช้น้ำยาแอร์ ร่วมกับ LiCl solution ซึ่งสามารถทำความเย็นและลดความชื้นได้ดีกว่าการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ อีกทั้งยังใช้พลังงานไฟฟ้าเพียงร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับการติดตั้งเครื่องปรับอากาศและระบบควบคุมความชื้น (Dehumidifier) ที่เหมาะสม จึงเหมาะสำหรับปลูกกัญชาทางการแพทย์ในช่วงระยะออกดอก เพื่อให้ได้ช่อดอกกัญชาที่มีคุณภาพ

นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า ระบบที่ 3 โรงเรือนแบบระบายอากาศธรรมชาติ (Open air) จำนวน 2 โรงเรือน เป็นโรงเรือนแบบเปิด มีหลังคาเพื่อป้องกันหยาดน้ำฟ้า และติดตั้งตาข่ายสำหรับกันแมลงขนาดใหญ่ เป็นโรงเรือนที่ต้นทุนต่ำทั้งราคาโรงเรือน และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ แต่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้ ซึ่งจะใช้สำหรับการศึกษาวิจัยวิธีการเพาะปลูกกัญชาในสภาพอากาศธรรมชาติ รวมทั้งคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีสารสำคัญสูงให้เหมาะกับสภาพอากาศในประเทศไทย  นอกจากนั้นยังได้ทำการปลูกแบบกลางแจ้งเพื่อศึกษา วิจัยพัฒนาควบคู่กันไปด้วยในพื้นที่บริเวณเดียวกัน

“การดำเนินการดังกล่าวจะได้องค์ความรู้จากการศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะปลูกตลอดจนพัฒนาสายพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ที่ให้สารสำคัญสูงและเหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทย และจะสามารถลดต้นทุนการผลิตช่อดอกกัญชาได้ในอนาคต ทำให้องค์การเภสัชกรรมสามารถนำกัญชามาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น อันจะส่งผลให้ผู้ป่วยและประชาชนได้เข้าถึงยาอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังจะช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ต่อไป” นพ.วิฑูรย์ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการนำร่องกับวิสาหกิจชุมชนใน 3 จังหวัดคือ บุรีรัมย์ ลำปาง และนครราชสีมา โดยเบื้องต้น เป็นการมอบสายพันธุ์กัญชาที่องค์การเภสัชกรรมให้ไปปลูกเพื่อให้ได้ช่อดอกที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน อภ. นำมาผลิตสารสกัดกัญชาที่มีคุณภาพต่อไป สำหรับแผนงานในปี 2564 จะมีการพัฒนาสารสกัดในรูปแบบฟิล์ม แชมพู ซึ่งอยู่ในขั้นการทดลอง ส่วนเดือนมกราคม 2564 จะผลิตสารสำคัญให้เป็นสารละลายน้ำ รวมถึงมีการทำสลีปปิ้งมาส์กด้วย

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. กล่าวว่า กฎกระทรวงเรื่องพืชกัญชง จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีการอบสุดท้ายไม่เกินเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งหากส่งกลับมายัง อย.ก็จะเสนอรองนายกฯ ลงนามทันที คาดว่าจะสามารถใช้ได้ภายในปี 2563 แน่นอน ซึ่งกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้จะให้ประโยชน์กับทั้งเกษตรกรและประชาชนทั้งในเชิงการใช้สารสกัดที่กัญชงจะมีสารซีบีดีสูง สารทีเอชซีต่ำ สามารถนำมาผลิตเป็นยา เครื่องสำอาง นอกจากนี้ เส้นใยยังสามารถนำมาผลิตเป็นเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงเมล็ดกัญชงซึ่งจะมีน้ำมันจากเมล็ดสามารถนำไปผลิตเป็นยา อาหาร และเครื่องสำอางได้เช่นกัน แต่การดำเนินการทั้งหมดต้องผ่านการอนุญาตตามกฎระเบียบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image