เครือข่ายเอดส์เฮ! กรมทรัพย์สินทางปัญญายกคำขอจดสิทธิบัตรยาต้านไวรัสเอชไอวี

เครือข่ายเอดส์เฮ! กรมทรัพย์สินทางปัญญายกคำขอจดสิทธิบัตรยาต้านไวรัสเอชไอวี

ตามที่มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ได้ยื่นคัดค้านก่อนออกสิทธิบัตรยาต้านไวรัสเอชไอวี “รัลทีกราเวียร์” (Raltegravir) ที่ขอจดสิทธิบัตรโดยบริษัท เมิร์ค ชาร์ป แอนด์ โดห์ม คอร์ป ตามคำขอเลขที่ 1201001892 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2558 หลังจากมีกระบวนการตรวจสอบคำคัดค้าน อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา วินิจฉัยยกคำขอสิทธิบัตรดังกล่าว และบริษัท เมิร์คฯ ได้ยื่นคำอุทธรณ์ โดยกรมทรัพย์สินฯ ได้ตั้งคณะกรรมการสิทธิบัตรขึ้นมาพิจารณาคำอุทธรณ์ดังกล่าว ล่าสุด มีคำตัดสินจากคณะกรรมการฯ ยืนตามคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินฯ ให้ยกคำขอจดสิทธิบัตรยาดังกล่าว ตามหนังสือแจ้งลงวันที่ 1 ตุลาคม 2563

วันนี้ (8 ตุลาคม 2563) นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจยื่นคัดค้านสิทธิบัตรยารัลทีกราเวียร์ เปิดเผยว่า คำตัดสินครั้งนี้ เป็นประวัติศาสตร์อีกหนึ่งหน้าของการต่อสู้เพื่อสิทธิการเข้าถึงยาจำเป็นในราคาที่เป็นธรรม

“การสู้ครั้งนี้ใช้เวลาสู้ตามกระบวนการของกฎหมายสิทธิบัตรกว่า 4 ปี ทำให้เห็นช่องว่างของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สิทธิบัตร พ.ศ.2542 ที่ใช้เวลาพิจารณายืดเยื้อยาวนาน โดยเฉพาะกรณีของยารักษาโรค หากคนที่จำเป็นต้องใช้ยา คงรอไม่ได้ และอาจจะเสียชีวิตไปแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ขณะนี้ กรมทรัพย์สินฯ อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเราเรียกร้องว่าต้องรับฟังเสียงคัดค้าน ข้อเสนอแนะของภาคประชาชนที่ต้องได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้ระยะยาวให้มากๆ อย่ามุบมิบเร่งรีบ” นายนิมิตร์ กล่าว

Advertisement

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ยารัลทีกราเวียร์ เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการกดเชื้อไวรัสได้ดี มีผลข้างเคียงน้อย และดื้อยายาก แต่ยามีราคาสูงถึง 7,680บาทต่อขวด ใช้ได้ 1 เดือน และยังต้องใช้ร่วมกับยาสูตรอื่นอีก 2 ชนิด ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพกำหนดให้เป็นสิทธิประโยชน์เฉพาะผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีการดื้อยาซ้ำซ้อน และกรณีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเอชไอวี ที่มาฝากครรภ์ช้า เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการรับเชื้อของทารกลงให้ได้มากที่สุดเท่านั้น ทั้งที่ยาสูตรนี้ใช้กับผู้ที่ไม่มีปัญหาดื้อยาได้ด้วย แต่ถ้ายาไม่ถูกผูกขาดโดยระบบสิทธิบัตร จะทำให้บริษัทอื่นสามารถเข้ามาแข่งขันได้ เราจะมียาในราคาที่เป็นธรรมกว่านี้ ประเทศก็จะมีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดหายาให้ผู้ติดเชื้อที่จำเป็นต้องใช้ยานี้ได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้คนที่ต้องกินยาในระยะยาวอย่างผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“อย่างไรก็ตาม ผลคำตัดสินของคณะกรรมการสิทธิบัตรระบุว่า คำคัดค้านของมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ฟังขึ้นว่าสิทธิบัตรยาที่ขอจดสิทธิบัตรดังกล่าว ในข้อถือสิทธิที่ 26 มีการระบุว่า ใช้เพื่อการรักษาหรือการป้องกัน ซึ่งขัดต่อมาตรา 9 (4) ที่ระบุว่าการประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองตาม (4) หมายรวมถึงวิธีวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์ และขัดต่อมาตรา 5 (2) ที่ระบุว่า คำขอสิทธิบัตรยาดังกล่าว ไม่ได้มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ในทางเภสัชศาสตร์ขั้นตอนการประดิษฐ์ที่ระบุไว้ในคำขอ ถือเป็นขั้นตอนสามัญที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญทั่วไป”นายอภิวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ ผลคำตัดสินดังกล่าวจะถือว่าสิ้นสุด หากบริษัทยาไม่มีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 60 วัน นับจากวันที่คณะกรรมการสิทธิบัตรมีคำตัดสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image