บิ๊กตู่ สั่งดูแลแรงงานเก็บผลไม้ป่า เผยนำรายได้เข้าปท.กว่า 600 ล.

บิ๊กตู่กำชับกระทรวงแรงงานดูแลแรงงานเก็บผลไม้ป่า เผยนำรายได้เข้าปท.กว่า 600 ล้านบาท

วันนี้ (15 ตุลาคม 2563) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดมาตรการดูแลคนงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศฟินแลนด์ และประเทศสวีเดน ฤดูกาลปี 2020 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19

นายสุชาติ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานดำเนินการตามนโยบายของนายกฯ ในการส่งเสริมให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และเพื่อเป็นการให้ความคุ้มครองคนงานไทยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (ศบค.) กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กำหนดมาตรการในการดูแลและคุ้มครองคนงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์และสวีเดน ฤดูกาลปี 2020 ซึ่งเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 – ถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2563 กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน (กกจ.) ได้พิจารณาอนุญาตการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่า ฤดูกาลปี 2020 โดยมีบริษัทนายจ้างในประเทศไทยยื่นขออนุญาตพาลูกจ้างไปเก็บผลไม้ป่าในสวีเดน จำนวน 7 บริษัท มีคนงานที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในสวีเดนจำนวนทั้งสิ้น 3,040 คน

Advertisement

นายสุชาติ กล่าวว่า สำหรับการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ มีคนงานไทยแจ้งการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ จำนวนทั้งสิ้น 2,214 คน และมีบริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์ จำนวน 15 บริษัท โดย กกจ.ได้ดำเนินการอบรมและชี้แจงทำความเข้าใจให้คนงานไทยทุกคนทราบและเข้าใจในเงื่อนไขและความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นก่อนเดินทาง

“เมื่อสิ้นสุดฤดูกาลเก็บผลไม้ป่าปี 2020 แรงงานส่วนใหญ่ได้ทยอยเดินทางกลับถึงประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 – 22 ตุลาคม 2563 โดยสายการบินไทย สายการบิน Emirates Airline สายการบิน Qatar Airline และสายการบิน Finnair จำนวน 21 เที่ยวบิน มีคนงานไทย คนงานสนับสนุน ตัวแทนของบริษัทรับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์ และตัวแทนของบริษัทนายจ้างในประเทศไทยเดินทางกลับประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 5,293 คน จากประเทศฟินแลนด์ จำนวน 2,240 คน และประเทศสวีเดน จำนวน 3,053 คน โดยทุกคนต้องเข้ารับการกักกันโรคเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ในสถานที่กักกันแห่งรัฐทางเลือก (ASQ) และสถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กร (OQ) ตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่รัฐบาลกำหนด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดี กกจ. กล่าวว่า กกจ.กำหนดให้บริษัทรับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์และบริษัทนายจ้างสวีเดนและบริษัทนายจ้างในประเทศไทย ต้องดำเนินการจัดทำประกันสุขภาพให้คนงานไม่จำกัดวงเงินความคุ้มครอง รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกักตัวในประเทศไทยระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน จ่ายเงินชดเชย จำนวน 1 ล้านบาท กรณีเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 การตรวจหาเชื้อโควิด–19 ก่อนไปและกลับประเทศ รวมทั้งจัดทำกรมธรรม์คุ้มครอง ค่ารักษาพยาบาลโรคติดเชื้อโควิด-19 ในฟินแลนด์เพิ่มเติม การรับรองรายได้ขั้นต่ำให้คนงาน และค่าใช้จ่ายทั้งหมดระหว่างรอเดินทางกลับประเทศไทย

Advertisement

นายสุชาติ กล่าวว่า บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์ต้องประกันรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายให้คนงานไทยไม่ต่ำกว่า 82,500 บาท และวางหลักประกันรายได้ หากคนงานไทยมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายไม่ถึงจำนวนเงินดังกล่าว บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบให้คนงานไทยมีรายได้เท่ากับ 82,500 บาท สำหรับประเทศสวีเดนนายจ้างสวีเดน/บริษัทนายจ้างในประเทศไทยต้องรับรองรายได้ขั้นต่ำรายเดือนให้คนงานไทยตามที่สหภาพแรงงานส่วนท้องถิ่นแห่งสวีเดน (Swedish Municipal Worker’s Union หรือ Kommunal) ประกาศกำหนด เป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 22,049 โครนา สวีเดน คิดเป็นเงินไทยจำนวน 71,659 บาท

“จากข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 มีคนงานไทย คนงานสนับสนุน และตัวแทนบริษัทนายจ้างเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว จำนวน 4,841 คน (คิดเป็นร้อยละ 91.5) เดินทางจากประเทศฟินแลนด์ จำนวน 1,788 คน และประเทศสวีเดน จำนวน 3,053 คน สร้างรายได้ให้ประเทศไทยประมาณ 618,341,720 บาท ทั้งยังสร้างรายได้ให้สถานประกอบการธุรกิจโรงแรมซึ่งเป็นสถานที่กักตัวของคนงานไทย มากกว่า 135,020,500 บาท ส่งผลให้มีการจ้างพนักงานเพื่อให้บริการคนงานไทยกลุ่มดังกล่าวเพิ่มเติม ซึ่งทำให้เกิดการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ และยังเป็นการแก้ไขปัญหาการว่างงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อีกทางหนึ่ง” อธิบดี กกจ. กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image