อย.ชี้เครื่องดื่มชาไทยมีส่วนผสมเอื้อจุลินทรีย์ เก็บนานเปลี่ยนสภาพ

อย.ชี้เครื่องดื่มชาไทยมีส่วนผสม เอื้อต่อการเจริญของจุลินทรีย์ เก็บนานอาจเปลี่ยนสภาพ

วันนี้ (19 ตุลาคม 2563) นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กรณีที่มีการเผยแพร่คลิปที่ผู้บริโภคซื้อเครื่องดื่มชาไทยจากตลาดนัด นำไปเก็บไว้ในตู้เย็น 2 วัน แต่ปรากฏว่าเมื่อแกะถุง ชาไทยได้เปลี่ยนสภาพเป็นเมือกเหลวคล้ายพลาสติกถูกหลอมละลาย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า ชาไทย เป็นเครื่องดื่มที่ผลิตจากชาซีลอนที่นำมาปรับกลิ่น และแต่งสี เพื่อให้เวลาชงแล้วออกมาเป็นสีส้ม และนำมาชงดื่มในแบบต่างๆ เช่น ชาร้อน (ใส่นม และน้ำตาล) ชาดำร้อน (ใส่น้ำตาล) ชาดำเย็น (ใส่น้ำตาล และน้ำแข็ง) ชาเย็นหรือชาไทย (ใส่นม หรือครีมเทียม น้ำตาล หรือนมข้นหวาน และน้ำแข็ง) โดยอาจเติมนมข้นจืด หรือครีมเทียมข้นจืดเพื่อเพิ่มรสชาติ

“ผลิตภัณฑ์ชาเย็นซึ่งมีน้ำ น้ำตาล และนมเป็นส่วนประกอบ จึงเอื้อต่อการเจริญของจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเน่าเสีย และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ดังนั้น จึงต้องมีกระบวนการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ ทั้งความสะอาดของเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ อุณหภูมิที่ใช้ในการต้ม และความสะอาดของผู้จำหน่าย รวมทั้งอุณหภูมิที่ใช้ในการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม” นพ.พูลลาภ กล่าว

รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า เครื่องดื่มชาไทยที่ขายตามร้านค้า ตลาดนัดโดยไม่ได้บรรจุในภาชนะที่ปิดสนิทเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลของ อย. ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อ ควรเลือกซื้อจากร้านที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ทั้งความสะอาดของวัตถุดิบ อุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้ในการผลิต และสุขลักษณะของผู้ปรุงจำหน่าย อีกทั้ง ไม่ควรนำผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะผิดปกติ เช่น เป็นเมือก เป็นยาง เหนียวข้น หรือมีสี กลิ่น รส เปลี่ยนไปมาบริโภค

“สำหรับผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในการกำกับดูแลของ อย. จะเป็นผลิตภัณฑ์ชาปรุงสำเร็จที่บรรจุในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ซึ่งมีข้อกำหนดในเรื่องคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ เช่น ตรวจไม่พบแบคทีเรียชนิด อี.โคไล ไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค สถานที่ผลิตต้องผ่านการตรวจประเมินตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) ในการเลือกซื้อ ผู้บริโภคควรสังเกตภาชนะบรรจุต้องสะอาด ไม่บุบ แตก หรือฉีกขาด มีเลขสารบบอาหาร มีการแสดงฉลาก เช่น ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ปริมาตรสุทธิ วันเดือนปีที่ควรบริโภคก่อน ข้อมูลการใช้วัตถุเจือปนอาหาร และข้อมูลเกี่ยวกับการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์บนฉลาก หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องเก็บรักษาในตู้แช่เย็น ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิของตู้แช่เย็นตลอดเวลา” นพ.พูลลาภกล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ นพ.พูลลาภกล่าวว่า หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ได้รับความปลอดภัย สามารถร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย.1556 หรืออีเมล์ [email protected] หรือ ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือ สํานักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะดําเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ที่กระทําผิดต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image