ไทยเฮ! พร้อมรับเทคโนโลยีผลิตวัคซีนโควิด-19 จากอ็อกซ์ฟอร์ดกลางปี’64

ไทยเฮ! พร้อมรับเทคโนโลยีผลิตวัคซีนโควิด-19 จากอ็อกซ์ฟอร์ดกลางปี’64

วันนี้ (19 ตุลาคม 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยถึงเป้าหมายการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ตั้งเป้าไว้ร้อยละ 50 ของประชากรคนไทยทั้งหมด และในการจัดหานั้น จะแบ่งออกเป็น 1.การจองวัคซีนกับโครงการ COVAX facility ประมาณร้อยละ 20 2.จากบริษัทแอสทราเซเนกา และมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดอีกร้อยละ 20 และ 3.การเจรจาวัคซีนกับแหล่งอื่นๆ ร้อยละ 10

นพ.นคร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวัคซีนโครงการ COVAX facility นั้น อยู่ระหว่างการเจรจาจองวัคซีน ซึ่งหากบริษัทใดในจำนวน 20 กว่าประเทศทำเสร็จ ก็คาดว่าประเทศไทยจะได้ใช้ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งตามไทม์ไลน์ตั้งไว้ไม่น่าเกินกลางปี 2564 แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ผลิตวัคซีนว่าสำเร็จเมื่อไร

“ส่วนกรณีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากทางมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และ แอสทราเซเนกา นั้น ได้มีการมาสำรวจในประเทศไทยว่า โรงงานใดมีศักยภาพ ซึ่งพบว่า สยามไบโอไซเอนซ์ มีประสิทธิภาพในการผลิตได้ถึง 200 ล้านโดส จึงมีการคัดเลือก และหลังจากมีการทำข้อตกลงเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว โดยคนไทยจะต้องมีการฝึกอบรมรับเทคโนโลยีก่อน ซึ่งตามไทม์ไลน์ของแอสทราเซเนกาต้องผ่านการทดสอบระยะ 3 และผลิตได้ในเดือนธันวาคม 2563 จากนั้น ต้องขึ้นทะเบียน อย. ประเทศต้นทาง คือ อังกฤษ และต้องขึ้นทะเบียน อย.ในประเทศไทย ซึ่งหากผ่านกระบวนการต่างๆ แล้ว ไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพร้อมผลิตได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2564” นพ.นคร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ทราบราคาซื้อวัคซีนแล้วหรือไม่ นพ.นคร กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดราคาชัดเจน แต่เบื้องต้นในส่วนของ COVAX facility ราคาหน้าโรงงานอยู่ที่ 10.55 เหรียญสหรัฐต่อโดส แต่ในส่วนของแอสตราเซนเนกา คาดว่าต้องราคาถูกกว่า เนื่องจากคิดราคาต้นทุนเท่านั้น ไม่เอากำไร

Advertisement

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนของไทยเป็นอย่างไร นพ.นคร กล่าวว่า ในส่วนของการผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในส่วนการทดลองในคนระยะที่ 1 และ 2 หากใช้ได้ผลดีกระตุ้นภูมิคุ้มกันดี ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนนำผลมาเทียบกับต่างประเทศที่มีการศึกษาได้ผลระยะที่ 3 แล้ว เนื่องจากไทยไม่ได้มีปริมาณที่จะทดลองระยะที่ 3 ได้ อย่างไรก็ตาม จากนั้นก็ต้องดำเนินการเสนอขออนุญาตการผลิตต่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image