สธ.จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เชิงรุก ดูแลสุขภาพพระสงฆ์ทั่วไทย

สธ.จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เชิงรุก ดูแลสุขภาพพระสงฆ์ทั่วไทย

วันนี้ (21 ตุลาคม 2563) ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการถวายการตรวจสุขภาพพระสงฆ์ที่เอื้อต่อพระธรรมวินัยเขตสุขภาพที่ 9 จ.ชัยภูมิ ว่า ปัจจุบันทั่วประเทศ มีพระสงฆ์- สามเณร จำนวน 252,851 รูปจาก 41,142 วัด จากผลการสำรวจสุขภาพพระสงฆ์-สามเณรทั่วประเทศ ล่าสุดในปี 2559 พบพระสงฆ์มีสุขภาพดีร้อยละ 52.3 มีภาวะเสี่ยงร้อยละ 19.2 พบ 5 ปัจจัยเสี่ยง คือ ไขมันในเลือดสูง ค่าดัชนีมวลกายเกินมาตรฐาน การสูบบุหรี่ น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง มีภาวะป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังร้อยละ 28.5 ใน 5 โรคสำคัญได้แก่ มะเร็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และไตวายเรื้อรัง

นายสาธิต กล่าวว่า พระสงฆ์–สามเณรเป็นกลุ่มที่เข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้ยาก เนื่องจากตามพระธรรมวินัยพระสงฆ์จะไม่ร้องขอการตรวจสุขภาพ ยกเว้นเมื่อเจ็บป่วย พระสงฆ์บางรูปไม่เคยเข้ารับการตรวจสุขภาพ ทำให้ไม่รู้ว่ามีความเสี่ยง สธ.จึงได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการด้านสุขภาพแก่พระสงฆ์-สามเณรเพื่อช่วยให้เข้าถึงบริการและป้องกันโรค

“หากพบเจ็บป่วยจะรักษาทันที ไม่ให้เข้าสู่ภาวะเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนของโรค สำหรับบริการประกอบด้วย ตรวจรักษาโรค ตรวจเอ็กซเรย์ทรวงอก ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจตา จอประสาทตา ขั้วประสาทตา ต้อหิน ต้อกระจก ถวายแว่นสายตาและแว่นกันแดด ตรวจสุขภาพช่องปาก ทันตกรรม ถอนฟันขูดหินปูน การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ตรวจสุขภาพเท้าและถวายรองเท้าเพื่อสุขภาพ และตรวจรักษาโดยการฝังเข็ม นอกจากนี้ จะรวบรวมข้อมูลมาจัดทําสมุดสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ ใช้เป็นฐานข้อมูลด้านสุขภาพพระสงฆ์นำมาวางแผนเชิงนโยบายในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ พร้อมทั้งให้โรงพยาบาล (รพ.) สงฆ์ จัดตั้งกองทุนดูแลสุขภาพพระสงฆ์ นับเป็นการปวารณาของ สธ.ในการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์-สามเณร อาพาธ” นายสาธิต กล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการสำรวจสุขภาพพระสงฆ์มีความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วน ซึ่งนำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เนื่องจากไม่สามารถเลือกฉันท์อาหารได้ ดังนั้นขอให้ประชาชนใส่ใจเลือกอาหารใส่บาตรที่เหมาะสม ลดหวาน มัน เค็ม ซึ่งนอกจากจะเกิดกุศลผลบุญที่ดีแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงดังกล่าวแก่พระสงฆ์ด้วย แนะให้ประชาชนเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างน้อย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ข้าวกล้อง 2.เนื้อสัตว์ไขมันต่ำเพื่อลดพลังงานส่วนเกินไปสะสมในร่างกาย 3.ผักต่างๆ ที่มีใยอาหารช่วยในการขับถ่าย 4.ผลไม้ที่ไม่มีรสหวาน อาทิ ฝรั่ง ส้ม ชมพู่ แอปเปิ้ล และมะละกอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image