ก.แรงงาน ร่วม หัวเว่ย พัฒนาทักษะเทคโนโลยีดิจิทัลบุคคลทั่วไป

ก.แรงงาน ร่วม หัวเว่ย พัฒนาทักษะเทคโนโลยีดิจิทัลบุคคลทั่วไป

วันนี้ (22 ตุลาคม 2563) ที่สำนักงานบริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ระหว่าง นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กับ นายไบรอัน หลิว รองกรรมการผู้จัดการบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด มี นายชาคริตย์ เดชา รองอธิบดี กพร. และ นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หัวเว่ยฯ ลงนามเป็นสักขีพยาน พร้อมทั้งมอบวุฒิบัตรแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการติดตั้งระบบส่งสัญญาณโทรคมนาคม
ในระบบ 4G และ 5G

นางนฤมล เปิดเผยหลังเป็นประธานลงนามว่า ความร่วมมือของ กพร. กับ บริษัท หัวเว่ยฯ ในครั้งนี้เกิดขึ้นจากนโยบายรัฐบาลที่ตระหนักถึงความจำเป็นในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยนวัตกรรม และพัฒนากำลังคนให้มีความพร้อมรองรับการเข้าสู่ยุคดิจิทัล เกิดการจ้างงานในธุรกิจใหม่ เน้นความรู้ทักษะดิจิทัลทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยบูรณาการร่วมกับเครือข่ายในการพัฒนาฝีมือแรงงาน สอดคล้องตามนโยบายของกระทรวงแรงงาน และ กพร.

Advertisement

นายธวัช กล่าวว่า กพร.ได้ร่วมกับ บริษัทหัวเว่ยฯ จัดฝึกอบรมหลักสูตร การติดตั้งระบบส่งสัญญาณโทรคมนาคมในระบบ 4G และ 5G (4G and 5G Wireless System’s Hardware Installation) ให้แก่บุคลากรฝึกของ กพร. เป้าหมาย 120 คน เพื่อนำไปขยายผลฝึกอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไปอีก 300 คน ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยครอบคลุมหัวข้อหลักๆ อาทิ เครือข่าย 4G และ 5G รวมไปถึงการลงพื้นที่จริง นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรออนไลน์ให้แก่บุคคลทั่วไป เป้าหมาย 3,000 คน ในปี 2564 ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด กพร. ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ดำเนินการฝึกอบรม

“ทั้งนี้ นำร่องการฝึกอบรมโดย สพร.13 กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 19 – 21 ตุลาคม 2563 จำนวน 20 คนในหลักสูตรการติดตั้งระบบส่งสัญญาณโทรคมนาคมในระบบ 4G และ 5G ระยะเวลาการฝึก 18 ชั่วโมง ให้แก่บุคคลทั่วไป นักศึกษาจบใหม่ แรงงานในระบบ และผู้ว่างงาน ที่มีอายุตั้งแต่ 18 – 35 ปี มีทักษะด้านการใช้งานคอมพิวเตอร์และการใช้งานอุปกรณ์ช่างพื้นฐาน มีอุปกรณ์สมาร์ทโฟน มีสภาพร่างกายและจิตใจที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฝึก สามารถเข้ารับการฝึกได้ตลอดหลักสูตร ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือและการติดตั้งฮาร์ดแวร์สำหรับอุปกรณ์สถานีฐานไร้สายในระบบ 4G และ 5G ตามข้อกำหนดการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานนอกสถานที่ การตรวจสอบ
หลังการติดตั้งตามข้อกำหนดความปลอดภัยทางไซเบอร์” นายธวัช กล่าว

Advertisement

นายธวัช กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย ได้รับความนิยม และมีความสำคัญต่อการใข้ชีวิตประจำวันในหลายด้าน อาทิ การจัดการคลังสินค้าอัตโนมัติ การใช้โดรนหรืออุปกรณ์เซ็นเซอร์เพื่อช่วยในการบริหารจัดการเกษตร รถยนต์ที่มีระบบอัตโนมัติช่วยในการขับขี่ รวมไปถึงอุปกรณ์สวมใส่ติดตามตัวเพื่อช่วยในการดูแลสุขภาพ ดังนั้น การพัฒนาทักษะแรงงานด้านดิจิทัลจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อแรงงานในยุคปัจจุบันและอนาคตรวมถึงการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับประเทศอีกทางหนึ่งด้วย สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ สพร.หรือ สนพ.ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือโทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image