วราวุธ ห่วงภัยแล้งปีหน้า  พร้อมประสานกระทรวงอื่นฯ ร่วมป้องกันฝุ่นพีเอ็ม 2.5

แฟ้มภาพ

 วราวุธ ห่วงภัยแล้งปีหน้า  พร้อมประสานกระทรวงอื่นฯ ร่วมป้องกันฝุ่นพีเอ็ม 2.5

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่ห้องอารีย์สัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. นำคณะผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงฯ ร่วมประชุมคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ครั้งที่ 5/2563

นายวราวุธ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นว่า ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาหารือแก้ไข ปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ ที่กระทบต่อการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจของกระทรวงฯ ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงความอยู่ดีกินดีและประโยชน์สุขสูงสุดที่ประชาชนจะได้รับ โดย คณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ได้รับทราบการดำเนินงานเรื่องที่สำคัญๆ เกี่ยวกับภารกิจของกระทรวงทรัพยากรฯ ที่ต้องบูรณาการความร่วมมือจากกระทรวงต่างๆ

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า เรื่องเร่งด่วนที่เรากำลังจะเผชิญ คือ เรื่องภัยแล้ง แม้จะมีพายุเข้ามาหลายลูก ส่วนใหญ่จะเข้ามาทางอีสานตอนใต้ และภาคกลาง แต่อีสานตอนบนพบว่าเขื่อนหลายแห่งยังมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งคาดว่าภัยแล้งในปี 2564 น่าจะรุนแรงกว่าปีนี้ จึงน่าเป็นห่วงในเรื่องนี้มาก ซึ่งตนได้กำชับให้หน่วยงานทส.เร่งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นเพื่อเตรียมรับมือภัยแล้งและแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน ส่วนอีกเรื่องคือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กพีเอ็ม 2.5 ที่ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ปลายฝนต้นหนาว ทำให้อากาศหนาแน่นก่อให้เกิดการสะสมของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ได้ ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อป้องกันการเผาในพื้นที่เกษตร ไม่ให้ปัญหาฝุ่นหนักหนาสากรรจ์ไปกว่าเดิม ประสานไปยังกรมขนส่งทางบก เรื่องควันดำรถยนต์ กระทรวงสาธารณสุชที่จะให้ความรู้ในเรื่องการดูแลตัวเอง รวมทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม ที่จะสามารถตรวจตราในทุกพื้นที่ เป็นต้น

Advertisement

รัฐมนตรี ทส. กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังหารือทั้งเรื่องการบริหารจัดการธรณีพิบัติภัยทั้งระบบ การบริหารจัดการแหล่งมรดกทางธรณีวิทยาเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนผ่านแนวทางอุทยานธรณี การสำรวจและประเมินศักยภาพทรัพยากรแร่ในทะเล การจัดการน้ำเสียชุมชนและการจัดเก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสีย รวมถึงการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ อีกทั้งได้ให้ข้อเสนอแนะเรื่องการนำเข้าขยะพลาสติก การแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนเรื่องที่ดินทำกินของประชาชน และการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่ดิน กรณีอุทยานแห่งชาติกำหนดแนวเขตที่ดินทับซ้อนกับที่อยู่อาศัย รวมถึงที่ดินทำกินของประชาชน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image