หมอประสิทธิ์ ชี้ลดกักตัวต้องเตรียมรับมือโควิด-19 ระบาด แนะรับเฉพาะ ปท.เสี่ยงต่ำ

หมอประสิทธิ์ ชี้ลดกักตัวต้องเตรียมรับมือโควิด-19 ระบาด แนะรับเฉพาะ ปท.เสี่ยงต่ำ

วันนี้ (3 พฤศจิกายน 2563) ที่โรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ภายหลังการสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ในหลายประเทศกำลังเจอเหตุการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นเรื่อยๆ เกินศักยภาพที่จะรับได้ ซึ่งเป็นเหตุผลในการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศอังกฤษ เพราะทราบดีว่าเศรษฐกิจจะแย่ลง แต่ขณะเดียวกันผู้ป่วยในประเทศอังกฤษเองก็เกินจำนวนเตียงในการรองรับ ซึ่งคล้ายกับประเทศสเปน ที่ผู้ป่วยหนักไม่ได้เข้าห้องไอซียูและส่งผลต่ออัตราเสียชีวิต พร้อมผู้ที่มีอาการป่วยน้อยแต่ไม่ได้เข้าอยู่ใน รพ. ออกมาอยู่ข้างนอก จึงทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรค

“ประเทศมี 3 เรื่องที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมกันคือ 1.ไฟรอบบ้านเรากำลังแรง โดยเฉพาะเมียนมา และมาเลเซีย 2.อากาศเย็น มีแนวโน้มว่าคนจะอยู่ในอาคาร ไม่เปิดหน้าต่าง และบ่อยครั้งก็ไม่สวมหน้ากาก เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และ 3.การชุมนุมในเวลานี้ ไม่ว่าชุมนุมของใครก็แล้วแต่ การตะโกน หรือไม่สวมหน้ากาก การอยู่ใกล้ชิดกัน เหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการระบาด ตอนนี้เท่าที่ทราบเรายังโชคดีที่ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้ามาถึงในกลางของประเทศ” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่พวกเราต้องช่วยกันโดยไม่ต้องพูดถึงวัคซีนคือ สวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง และล้างมือ ในส่วนของวัคซีนก็อาจจะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็ได้ เนื่อวจากร่างกายของแต่ละคนมีการตอบสนองต่อวัคซีนไม่เหมือนกัน ตนคาดว่าวัคซีนที่จะไปเร็วคือ ประเทศจีน เป็นการใช้เทคโนโลยีเดิมแต่ได้ผล โดยหากผ่านการทดลองในมนุษย์ระยะ (เฟส) ที่ 3 การผลิตในจำนวนมากจะทำได้ เนื่องจากใช้เทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่แล้ว ดังนั้นการผลิตเป็นพันล้านโดสไม่ใช่ปัญหาใหญ่ และไทยเองก็ได้เตรียมความพร้อมรับวัคซีนเหล่านี้มาผลิต อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะผ่านเฟสที่ 3 หรือไม่ก็ตามแต่การผลิตเป็นพันโดสจะไม่เร็วกว่ากลางปีหน้า คำถามคือ 7 เดือนต่อจากนี้ ที่ไม่มีวัคซีนเราจะทำอะไร

“โดย 2 เดือนนี้เป็นเดือนที่มีความเสี่ยงสูง ก็ต้องกลับมาสร้างวัคซีนให้กับตัวเอง ช่วยกันดูแลทำสิ่งที่เราทำมาตลอด อย่าคิดว่าไม่มีประโยชน์ และอยากฝากถึงผู้ประกอบการหลายแหล่งที่หละหลวม ถ้าเราช่วยกันเราจะยังออกไปกินข้าวนอกบ้านได้ ยังไปชอปปิ้งได้ ร้านค้ามีกำไรก็ขายของได้ ธุรกิจก็ยังเดินไปได้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ในส่วนของการเปิดรับนักท่องเที่ยว เราสามารถจัดกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำเข้ามา เพราะประเทศเสี่ยงต่ำมีอัตราติดเชื้อน้อย แต่เมื่อเข้ามาแล้วย้ำว่าจะต้องมีการกักกันตัว ส่วนการลดเวลากักตัวนั้น มีงานวิจัยส่วนหนึ่งแสดงให้เห็นโอกาสติดเชื้อในการลดวันกักตัวแต่ทั้งหมดเป็นเพียงสถิติ ดังนั้นหากจะดำเนินการลดวันกักตัว จะต้องนำประเทศเสี่ยงต่ำเข้ามาก่อนและต้องตรวจหาเชื้อ กำชับผู้เดินทางให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ของบางอย่างไม่ลองเราไม่รู้ แต่ต้องลองอย่างระวัง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียใจว่าเราลองมากเกินไปหรือไม่ ตนให้ความเห็นว่าสามารถทดลองได้ แต่ต้องมีเงื่อนไขตามกำหนด เมื่อเข้ามาแล้วต้องเคารพกติกา ไม่มีข้อยกเว้น อย่าให้เกิดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักบินต่างประเทศ จึงให้ข้อมูลก่อนหน้านี้เรื่องผ่อนจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน ใน 1 เดือนที่แล้ว ประเทศอังกฤษประกาศอยากจะลองลดเวลากักตัวและให้มีการเดินทางในประเทศยุโรป ซึ่งตอนนี้ประเทศอังกฤษมีการระบาดมาก แต่ไม่ทราบว่าสัมพันธ์หรือไม่สัมพันธ์อย่างไร

ADVERTISMENT

“ความเห็นผมคือ รัฐบาล ผู้มีอำนาจตัดสินใจ เลือกสมดุลระหว่างข้อดีกับข้อเสีย แล้วก็ทำ แต่ถ้าเมื่อไรที่มีการติดเชื้อกระจายขึ้น ความเห็นผมเลขสองหลัก ก็หยุดได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเลขหลักร้อย เกินความสามารถ เพราะทันทีที่ร้อยคือกระจายแล้ว เรียกว่าแพร่ระบาดแล้ว เอาแค่ว่าวันนี้ 20 รายอีกซัก 2-3 วันเป็น 40-50 ราย ก็หยุดแล้ว และต้องตามให้ได้ว่าไปไหนมา เราอย่ามองโลกสวยเพียงอย่างเดียว เช่นมองว่าต่างชาติเข้ามาจะนำรายได้เข้ามา ถ้าผมอยู่ในจังหวัดหนึ่งที่ตอนนี้ธุรกิจไปได้ระดับหนึ่ง เพราะมีคนไทยไปกินข้าวที่จังหวัดผม ไปเที่ยวจังหวัดผม แต่ถ้าเกิดระบาดในจังหวัดผม สุดท้ายถูกล็อกดาวน์ หมายถึงต่างชาติก็ไม่มา คนไทยก็ไม่มา ดังนั้นต้องช่วยกัน”ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้บอกว่าไม่ให้ทำ แต่ทุกคนต้องช่วยกัน โดยเฉพาะคนในพื้นที่ เช่น ภูเก็ต หากอยากลองก็ต้องช่วยกัน เพราะหากระบาดก็ทำให้ธุรกิจแย่หมด การตัดสินใจที่เร็วและเฉียบขาด อาจจะเจ็บ แต่เป็นระยะสั้น ดีกว่าขยายวงไปหลายพื้นที่แล้วเจ็บยาว