19หน่วยงาน เปิดตัวแอพพ์ฯพ้นภัย ใช้ฐานข้อมูลภัยพิบัติ-ระบบจีไอเอสช่วยเหลือปชช.

19หน่วยงาน เปิดตัวแอพพ์ฯพ้นภัย ใช้ฐานข้อมูลภัยพิบัติ-ระบบจีไอเอสช่วยเหลือปชช.

วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สภากาชาดไทย ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือในการบูรณาการขับเคลื่อนการใช้งานระบบฐานข้อมูลภัยพิบัติและระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านการบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย 19 หน่วยงาน ที่สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพมหานคร

สำหรับ 19 หน่วยงาน ประกอบด้วย สภากาชาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย
นพ.พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ กล่าวว่า ทั้ง 19 หน่วยงาน ได้ร่วมกันพัฒนาเว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่น “พ้นภัย” เพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งมีฐานข้อมูลแผนที่และข้อมูลสำคัญอื่นที่เป็นประโยชน์จากหลายหน่วยงาน ทำให้ประชาชน สามารถเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติและใช้แจ้งเหตุ และขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัย และมีกระบวนการคัดกรองตรวจสอบคำร้องให้ถูกต้องอย่างรวดเร็ว ผ่านตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อำเภอ ไปจนถึงระดับจังหวัด ก่อนที่จะจัดส่งความช่วยเหลือไป ทำให้มีการบูรณาการ การบริหารจัดการภัยพิบัติของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ โดยที่ทุกหน่วยงานเข้าถึงข้อมูลตรงกัน ลดความซ้ำซ้อน และความไม่ทั่วถึงในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยลงได้
“แอพพ์ฯ พ้นภัย ได้เริ่มมีการนำไปใช้ในการรับมือภัยพิบัติต่างๆ ทั้งอุทกภัย วาตภัย ไปจนกระทั่งภัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ประสบความสำเร็จอย่างดี และจะมีการนำระบบที่พัฒนาแล้วเสร็จไปเผยแพร่ผลักดันสู่การใช้งานจริง อย่างกว้างขวางทั่วประเทศต่อไป” นพ.พิชิต กล่าว
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ได้วางเป้าหมายขยายผลการใช้งานแอพพ์ฯ พ้นภัย ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในทุกจังหวัด พร้อมจัดให้มีเจ้าหน้าที่ประสานงานการให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำการใช้งานแอพพ์ฯ รวมถึงใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลภัยพิบัติและระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) ในการบูรณาการสรรพกำลังทั้งเจ้าหน้าที่ เครื่องมืออุปกรณ์ และเครื่องจักรกล สาธารณภัยจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ทั้ง 18 แห่ง สนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพื่อให้การปรับปรุงและพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านภัยพิบัติให้มีความครบถ้วนและครอบคลุมทุกประเภทภัย
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สนับสนุนในด้านการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครต่างด้าว (อสต.) ในการเรียนรู้การใช้งานแอพพ์ฯ และส่งเสริมให้ อสม. และ อสต. นำไปใช้จริงในการปฏิบัติงานตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19
“ที่ผ่านมา อสม. และ อสต. ได้ส่งคำร้องขอความช่วยเหลือมากว่า 20,319 คำร้อง ทั้งในเรื่องของการกักกันโรคโควิด-19 อุทกภัย อัคคีภัย วาตภัย ภัยแล้ง ภัยหนาว โรคระบาดสัตว์ โรคระบาดในมนุษย์ การคมนาคม และในอนาคต อสม.และ อสต.จะเป็นผู้ปักหมุดพิกัด โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง เด็ก ผู้พิการ ผู้ที่ต้องพึ่งพิง ที่ อสม.และ อสต. เข้าในระบบแอพพ์ฯ พ้นภัย เพื่อให้หน่วยงานเครือข่ายใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือ กลุ่มเปราะบางได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดภัย” นพ.ธเรศ กล่าว
นายพิริยะ ฉันทดิลก รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า กรมการปกครองได้มีการแต่งตั้งผู้แทนเข้าร่วมเป็นคณะทำงานฯ เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการฯ เชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลระหว่างฐานข้อมูลทะเบียนกลาง และระบบจีไอเอส เพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย พัฒนาขีดความสามารถและประโยชน์สูงสุดของระบบในการตรวจสอบด้วยเลขประจำตัวประชาชน เพื่อยืนยันตัวตนและข้อมูลจำนวนผู้อยู่อาศัยจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย โดยให้ทุกจังหวัดสั่งการให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ดาวน์โหลดและเข้าใช้งานแอพพ์ฯ เพื่อเป็นเครื่องมือและช่องทางในการรายงานสาธารณภัยและการร้องขอความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image