คุยปลัดป้ายแดง ‘พัชรี อาระยะกุล’ ผู้บริหารหญิงสายบู๊ ‘ดิฉันไม่มีเส้น’

นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดพม.

คุยปลัดป้ายแดง ‘พัชรี อาระยะกุล’ ผู้บริหารหญิงสายบู๊ ‘ดิฉันไม่มีเส้น’

“ดิฉันเป็นคนทำงานไม่มีวันหยุด จะดึกดื่น มืดค่ำ ถ้างานยังไม่เสร็จ ก็ทำไปเรื่อยๆ ทำอย่างนี้มาตลอด ช่วงแรกคนในครอบครัวก็ถามว่า คนอื่นเขากลับหมดแล้ว ทำไมยังไม่กลับอีก แต่ก็ทำอย่างนี้มาตลอด จนเขาเข้าใจหรือชินไปเอง (หัวเราะ) ก็เชื่อว่าความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ดิฉันได้รับเลือกเป็น ปลัด พม. ดิฉันไม่มีเส้น นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความเพียรล้วนๆ”

นางพัชรี อาระยะกุล กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษเปิดใจหลังรับตำแหน่ง ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

ถือเป็นปลัด พม.ที่มาจาก “คนใน” อีกครั้ง ในรอบ 2 ปี เติบโตในตำแหน่งนักบริหาร เป็นผู้อำนวยการกองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) จากนั้นขยับขึ้นเป็นรองอธิบดีกรม สค. ผู้ตรวจราชการกระทรวง พม. ก่อนใช้เวลา 1 ปี ในตำแหน่งรองปลัด พม. ควบตำแหน่งโฆษกกระทรวง พม. พิสูจน์ความสามารถและทุ่มเท โดดเด่นในมาดผู้บริหารหญิงสายบู๊ จนเข้าวินเป็นปลัด พม.ผู้หญิงคนที่ 3

นางพัชรีเล่าถึงสิ่งที่อยากทำว่า อยากเปลี่ยน พม.ใหม่ ให้ทำงานกระฉับกระเฉง ทำงานรวดเร็ว เวลามีแจ้งปัญหาความเดือดร้อนที่ไหน ต้องไปช่วยเหลือเลย แม้วันนั้นจะเป็นวันหยุด หรือตอนนั้นจะไม่อยู่ในเวลาราชการก็ตาม เพราะความเดือดร้อนประชาชนรอไม่ได้ ดิฉันเคยลำบากและประสบความเดือดร้อนมาก่อน เลยเข้าใจความรู้สึกและอินกับเรื่องนี้

Advertisement

“ดิฉันคิดเสมอว่าเมื่อประชาชนจ้างเรามาแล้ว เราต้องทำงานให้คุ้มค่า ก็เป็นสิ่งที่ พม.เตรียมนำเทคโนโลยีมาช่วยกำกับการทำงาน เช่น หากโทรแจ้งความเดือดร้อนกับศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 จากนี้จะสามารถติดตามในระบบได้เลยว่า เมื่อวางสายแล้วประชาชนจะได้รับการช่วยเหลือภายในกี่ชั่วโมง กี่วัน ซึ่งกำหนดเป้าหมายไว้ว่า เคสเกิดในกรุงเทพฯ ต้องช่วยภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนเคสเกิดในต่างจังหวัด ต้องช่วยภายใน 48 ชั่วโมง ระบบนี้ยังสามารถติดตามเอกสารราชการ ว่าถึงไหนแล้ว ช้าที่ใคร งานกองอยู่กับใคร เพื่อจะกระจายงานให้ทั่วถึงกัน”

นางพัชรี อาระยะกุล เดินสายลงพื้นที่สมัยดำรงตำแหน่งรองปลัดพม

ปลัดหญิงเผยสิ่งที่อยากทำคือ แก้ปัญหาความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัว ทำอย่างไร ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ของ สค.ที่มีอยู่แล้วทุกตำบล จะทำงานป้องกันเชิงรุก มีระบบประเมินความเสี่ยง อย่างครอบครัวพ่อเลี้ยง ลูกเลี้ยง ครอบครัวติดยาเสพติด ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องเฝ้าระวังพิเศษ และเพิ่มบทบาทเหมือนคลินิกครอบครัว ที่มีผู้เชี่ยวชาญสามารถให้คำปรึกษาครอบครัวได้ เช่น ปัญหาลูกดื้อไม่เชื่อฟัง สามีติดสุรา

Advertisement

ส่วนเรื่องทุจริตในองค์กรที่เคยเป็นฝันร้ายของ พม. นางพัชรีก็ให้ความสำคัญ ประกาศเป็นนโยบายชัดเจน เริ่มต้นในสำนักงานปลัด พม. ว่าผู้บริหารในการเดินทางไปตรวจราชการ ห้ามรับของขวัญ ของรางวัล และห้ามลูกน้องจัดเลี้ยงเจ้านาย เพราะเชื่อว่านี่คือ วัฒนธรรมที่ผิด และเป็นจุดเริ่มต้นการทุจริต

“ดิฉันปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่างตั้งแต่เป็นผู้ตรวจราชการแล้ว เพราะเข้าใจว่าน้องๆ ราชการจะต้องเอาเงินมาหารกันจ่ายเลี้ยงเจ้านาย ลำพังเขาเงินเดือนไม่เยอะ ส่วนผู้บริหารจะไปเลี้ยงน้องๆ หากไปตรวจราชการหลายจังหวัด จะจ่ายไหวไหม ดิฉันไม่มีเงินทุจริตมาเลี้ยง ฉะนั้น ก็แฟร์ๆ เลยคือ ไม่ต้องเลี้ยง หรือถ้ารู้จักกันจริงๆ ก็ช่วยกันจ่าย”

นอกจากนี้ ยังเข้มมาตรการป้องกันการทุจริต ผ่านการจ่ายเงินสงเคราะห์คนจน เน้นโอนตรงเข้าบัญชีให้มากที่สุด หากเบิกจ่ายเงินสดต้องขออำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ (สสว.) ที่มี 11 เขตทั่วประเทศ เดิมคอยสนับสนุนวิชาการ ก็เพิ่มบทบาทให้มาช่วยตรวจสอบภายใน ส่วนผู้ตรวจราชการ พม. ก็ให้เพิ่มบทบาท ในการสุ่มตรวจการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ เพื่อป้องกันประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

“การทำงานของกระทรวง พม.จากนี้จะเข้มข้นขึ้น การพิจารณาเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ที่แต่ก่อนอาจดูที่อาวุโสเป็นหลัก จากนี้จะวัดกันที่ผลงานประจักษ์เป็นหลัก ไม่ว่าเพศอะไรดิฉันก็พร้อมส่งเสริม และเพื่อตอบแทนความทุ่มเททำงาน ดิฉันเตรียมดูแลสวัสดิการให้ชาว พม. เช่น ร้านตัดผม ร้านนวด ร้านกาแฟ มุมออกกำลังกาย ศูนย์เดย์แคร์เด็ก เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เชื่อว่าจะช่วยสร้างขวัญและกำลังใจ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานชาว พม.ได้ต่อไป”

อีกหนึ่งผู้บริหารหญิงยุคใหม่ที่ต้องจับตาดูผลงาน

นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดพม

นางพัชรี อาระยะกุล เดินสายลงพื้นที่สมัยดำรงตำแหน่งรองปลัดพม
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image