อนุทิน นำทัพ สธ.ยันพร้อมเปิดปท.รับ นทท.ลุยกักตัว 10 วัน ประเมิน 3 เดือน

อนุทิน นำทัพ สธ.ยันพร้อมเปิดปท. อ้าแขนรับ นทท.ลุยกักตัว 10 วัน ประเมิน 3 เดือน เดินหน้า 7 วัน

วันนี้ (13 พฤศจิกายน 2563) ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดงาน “Smart Living with COVID-19 เปิดประเทศปลอดภัย เศรษฐกิจไทยไปรอด” พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. และอธิบดีกรมที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานเพื่อทำความเข้าใจเชิงลึกถึงนโยบายการเปิดประเทศปลอดภัย และเศรษฐกิจไปรอด

นายอนุทิน กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้นในการล็อกดาวน์ ทำให้ส่งผลกระทบกับชีวิตประชนอย่างมาก ขณะนี้ประเทศไทยสามารถควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี รู้จักกับโรคนี้มากขึ้น รัฐบาลมีนโยบายให้คลายล็อกเปิดประเทศบนพื้นฐานความปลอดภัยของประชาชน สธ.จึงนำประสบการณ์และองค์ความรู้มาปรับเป็นมาตรการควบคุมโรคเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการทยอยเปิดประเทศ ทั้งด่านเฝ้าระวังคัดกรองและควบคุมโรค ทีมสอบสวนโรคนับพันทีมที่พร้อมลุยงานเร่งด่วน มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 1 ล้านคนในการเฝ้าระวัง สถานกักกันโรคทุกประเภทมีห้องรองรับมากกว่า 8,000 ห้อง มีห้องปฏิบัติการในการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 จัดเตรียมยาฟาวิพิราเวียร์กว่า 5 แสนเม็ด ห้องแยกโรคและเตียงเพื่อรองรับการรักษา รวมถึงมีความร่วมมือจากประชาชน

Advertisement

“เหล่านี้เป็นภาพรวมความพร้อม ในวันที่ประเทศไทยจะต้องเดินหน้าสู้กลับโรคโควิด-19 ภายใต้แนวคิด SMART LIVING WITH COVID-19 คนไทยปลอดภัย เศรษฐกิจไทยไปรอด ขอยืนยันว่า สธ.มีประสบการณ์ ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ ความพร้อม และมีแผนการในการรองรับการเปิดประเทศ ที่จะทยอยคลายล็อกหลังจากนี้” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล ว่า ขณะนี้มีกว่า 20,000 เตียงทั่วประเทศ การรับผู้ป่วยจะพิจารณาจากผู้ป่วยที่มีอาการหนักที่อยู่ในห้องไอซียู จากการระบาดรอบแรกผู้ป่วยนอนไอซียูเฉลี่ยประมาณ 17 วัน ดังนั้น การเตรียมพร้อมครั้งนี้ ในกรุงเทพมหานครสามารถรองรับได้ 230-400 ราย ทั่วประเทศรองรับได้ 1,000-1,740 ราย ขณะที่ยาและเวชภัณฑ์ จากข้อมูลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม มียาฟาวิพิราเวียร์ 628,304 เม็ด สำหรับผู้ป่วย 8,900 ราย ยาเรมเดซิเวียร์ 795 ขวด สำหรับผู้ป่วย 126 ราย หน้ากาก N95 คงเหลือ 2,782,082 ชิ้น ชุดป้องกันส่วนบุคคลหรือ PPE คงเหลือ 1,959,980 ชิ้น มี 40 โรงงานกำลังการผลิต 60,000 ชุดต่อวัน และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ คงเหลือ 50,922,050 ชิ้น มี 60 โรงงาน กำลังการผลิต 4,700,000 ชิ้นต่อวัน

Advertisement

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การกักตัว 14 วัน เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ การอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จึงมีแนวคิดในการลดวันกักตัวลง แต่จะต้องทำให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด โดยจะพิจารณารายละเอียดให้มากขึ้น จากเดิมที่ใช้วันกักตัว 14 วันกับทุกประเทศ เนื่องจากความรู้และความเข้าใจของโรคที่มากขึ้นพร้อมด้วยความเสี่ยงในแต่ละประเทศที่มีสถานการณ์ของโรคต่างกัน เราจึงเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ โดยใช้ฐานคิดว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงระดับหนึ่ง ดังนั้นประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าหรือมากกว่าเล็กน้อยจัดว่าเป็นประเทศที่ปลอดภัย จะดำเนินการลดวันกักตัว แต่ในประเทศที่มีความเสี่ยงมากก็จะใช้ 14 วันเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม การลดลงมาจาก 14 เหลือ 10 วัน มีผลดีอย่างมาก สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อได้ และหากลดลง 4 วัน คิดเป็นร้อยละ 30 ในทางจิตวิทยาจะมีผลต่อความรู้สึกอย่างมาก โดยมาตรการความปลอดภัยจะต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในช่วงวันที่ 1, 3-5 และ 7-9 วัน

“โดยเมื่อออกจากสถานกักกันแล้ว จะต้องมีมาตรการติดตาม พบว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นการประมาณการปี 2564 หากมีผู้เดินทางเข้ามาจำนวน 10 ล้านราย คาดว่าพบการบกพร่องในการตรวจ ประมาณ 100 ราย คิดเป็น 2 รายต่อสัปดาห์ ซึ่งไม่เกินศักยภาพการควบคุมโรค อย่างไรตาม จะต้องมีการประเมินผลในทุก 3 เดือน แต่หากมีการหลุดมากกว่า 2 รายต่อสัปดาห์ ก็ต้องปรับแผน แต่ถ้าน้อยกว่า ก็ต้องมองไปว่า ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าประเทศไทย 1 ขั้น อาจจะขยับมาที่ 7 วัน หรือ 0 วัน ซึ่งเป็นแผนที่วางเอาไว้ แต่จะต้องประเมินจากข้อเท็จจริง ทั้งนี้ การแง้มเปิดประเทศ เราจะให้ประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าเข้ามาโดยจะมีมาตรการต่างๆ เสริม เพื่อให้อยู่ในความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และคนในประเทศยังต้องคงมาตรการป้องกันตนเอง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและล้างมือ” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังควบคุมโรค หากพบการติดเชื้อจะต้องรายงานภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการสอบสวนโรคอย่างรวดเร็ว โดยดำเนินการผ่าน 3P for Safety คือ 1.Port Safety ด่านควบคุมโรคปลอดภัย มีระบบเฝ้าระวังคัดกรองและควบคุมโรค 2.Policy for National Quarantine Safety จัดทำนโยบายควบคุมโรคระดับชาติ มีระบบกักกันโรคและสถานกักกันโรคที่ได้มาตรฐาน และ 3.Public Health Emergency Operation Center (PHEOC) Safety มีศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินที่เป็นระบบ ทั้งการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคเชิงรุก การจัดทีมสอบสวนโรคและรายงานภายใน 3 ชั่วโมง กว่า 3,000 ทีมทั่วประเทศ และมีระบบสื่อสารความเสี่ยงตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังมีการเฝ้าระวังและตรวจทางห้องปฏิบัติการในกลุ่มที่มีอาการเข้าเกณฑ์ ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ และอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ผู้ต้องขังแรกรับ แรงงานต่างด้าว

“สำหรับข้อเสนอการลดวันกักตัวผู้เดินทางจากประเทศที่มีความเสี่ยงโรคโควิด-19 ต่ำ หรือใกล้เคียงกับประเทศไทย จาก 14 วัน เหลือ 10 วัน อยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยของประชาชน เนื่องจากมีข้อมูลประกอบการพิจารณาคือ ผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดตรวจพบเชื้อภายใน 10 วัน การพบเชื้อหลัง 10 วัน ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ มีโอกาสแพร่เชื้อต่ำ เช่น กรณีดีเจร้านอาหาร หรือ หญิงชาวฝรั่งเศส ซึ่งไม่พบผู้สัมผัสติดเชื้อเพิ่ม ขณะที่ข้อมูลล่าสุดพบว่า ระยะการกักตัว 10 วัน และ 14 วัน มีความเสี่ยงไม่ต่างกัน และเมื่อออกจากที่กักกันโรค จะใช้มาตรการป้องกันส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ได้แก่ การสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล การจัดระบบระบายอากาศ และมีระบบติดตามตัวทุกคน เพื่อรายงานอาการป่วย” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวถึงฉากทัศน์ในการระบาดโควิด-19 ในระยะต่อไปว่า สำหรับประเทศไทยคาดว่าจะเกิดขึ้นใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.การพบผู้ป่วยเป็นครั้ง (Spike) เช่น กรณีชาวฝรั่งเศสและชาวอินเดียใน จ.กระบี่ หากควบคุมโรคได้ดี ประชาชนให้ความร่วมมือในการป้องกันตัวจะไม่มีการระบาด 2.การติดเชื้อเป็นคลื่นลูกเล็ก (Small wave) หากพบผู้ติดเชื้อและสามารถตรวจจับควบคุมได้ดี จะมีผู้ป่วยติดเชื้อตามมาไม่เกิน 50 รายต่อวัน และ 3.การระบาดใหญ่ (Big wave) หากมีการติดเชื้อและตรวจจับไม่ทันรวมถึงประชาชนไม่ให้ความร่วมมือในการป้องกันตัว

“หากดูทั้งหมดแล้ว อย่างแย่ที่สุดของประเทศไทยก็จะเกิดเป็นคลื่นลูกเล็ก อย่างไรก็ตาม จะต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชน และด้วยความพร้อม ความรู้และเครื่องมือที่เรามีอยู่ สธ.ยืนยันว่าเราไม่กลัวโควิด-19 แต่เรากลัวว่าประชาชนกังวลเกินไป และประเทศไทยจะเปิดไม่ได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจไปต่อไม่ได้ ซึ่งนั่นจะมีผลกระทบมากกว่าโควิด-19 มหาศาล” นพ.โอภาส กล่าว

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีศักยภาพตรวจเชื้อเฉพาะกรุงเทพฯ ได้ถึงวันละ 10,000 ตัวอย่าง ต่างจังหวัดตรวจได้วันละ 10,000 ตัวอย่าง ปัจจุบันมีแล็บที่ตรวจได้ 238 แห่งทั่วประเทศ ที่ผ่านมา มีการสุ่มตรวจเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนประมาณ 100,000 ราย พบผลบวก 1 ราย ถือว่ามีศักยภาพเพียงพอ หากมีผู้สงสัยติดเชื้อและต้องตรวจเชื้อเพื่อยืนยันผล

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมเปิดประเทศ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้เตรียมพร้อม 1.สถานกักกันโรคทางเลือกที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine: ASQ) ที่ต้องผ่านมาตรฐาน 6 ด้าน ปัจจุบันมี 107 แห่ง มีผู้กักตัวสะสม 35,362 ราย อยู่ระหว่างการกักตัว 6,201 ราย กลับบ้านแล้ว 29,161 ราย สร้างรายได้ให้ประเทศประมาณ 1,200 ล้านบาท 2.สถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine: AHQ) รองรับผู้ป่วยโรคอื่นที่เดินทางเข้ามารับการรักษา ปัจจุบันมี 173 แห่ง มีผู้ป่วยและผู้ติดตามเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลแล้วจำนวน 2,367 ราย รักษาเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 1,072 ราย กำลังรักษาอยู่ จำนวน 1,295 ราย สร้างรายได้เข้าประเทศแล้ว จำนวน 1,272,827,982 บาท และ 3.อสม.ในการดำเนินการตำบลวิถีใหม่ โดยสำรวจสุขภาพใจ และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวแก่ประชาชน ให้มีสุขอนามัย มีวินัยและความร่วมมือในการใส่หน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างในชุมชน

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะทยอยเปิดประเทศ แต่ประชาชนยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ซึ่งกรมอนามัยได้ดำเนินการใน 2 มาตรการ หลัก คือ 1.ยกระดับมาตรฐานของสถานประกอบการทั้ง 10 สถานที่ มุ่งเน้นมาตรการ 3 ระดับคือ ระดับสถานที่ ระดับบุคคล และระดับชุมชน 2.มีการสื่อสารสร้างความรอบรู้และความตระหนักใน 5 ประเด็นหลัก เพื่อสร้างเกราะป้องกัน 5 ด่าน คือ ล้างมือ สวมหน้ากาก โดยตั้งเป้าหมายให้ทั่วประเทศสวมหน้ากากอนามัยได้ร้อยละ 80 รักษาระยะห่าง 1-2 เมตร ทำความสะอาดพื้นผิว และจัดระบบระบายอากาศภายในอาคาร นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะ ก่อนเข้ารับบริการในสถานที่ต่างๆ และขอให้สถานประกอบการ ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของแต่ละสถานที่อย่างเคร่งครัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากการเปิดงาน นายอนุทิน ได้เดินเยี่ยมชมบูธนิทรรศการแสดงความพร้อมในการดำเนินการของแต่ละกรม และได้ลงนามรับรอง “นโยบายการกักกันโรคระดับชาติ” ที่ออกโดยคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่เป็นมาตรการควบคุมการกักกันโรคในกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศไทยและการวางแผนเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดอื่นๆ ในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image