น้ำสีม่วง คาดเป็นด่างทับทิม แพทย์ยันไม่อันตราย ใช้ระบุตัวตน

แฟ้มภาพ
น้ำสีม่วง คาดเป็นด่างทับทิม แพทย์ยันไม่อันตราย ใช้ระบุตัวตน

กรณีตำรวจควบคุมฝูงชน (ฝช.) ใช้แก๊สน้ำตา และฉีดน้ำผสมสีสลายการชุมนุมที่แยกเกียกกาย เมื่อช่วงเย็นวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายรายนั้น

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงผลกระทบจากการได้รับสารเคมีและแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมว่า โดยทั่วไปแล้วหลักการใช้สารเคมีสลายการชุมนุม คือ การทำให้ระคายเคืองเพื่อให้ยุติการชุมนุม แต่เนื่องจากตนไม่ได้รับข้อมูลของการรักษาผู้ได้รับบาดเจ็บการชุมนุมแยกเกียกกายที่ผ่านมา จึงไม่ทราบว่าสารเคมี หรือแก๊สน้ำตาสลายชุมนุมในครั้งนี้เป็นชนิดใด

“ในอดีตของการสลายม็อบที่ผ่านมาคือ การใช้แก๊สน้ำตา โดยขว้างกระป๋องแก๊สเข้ากลุ่มคน เมื่อเกิดควันก็จะกระตุ้นให้ต่อมน้ำตาปล่อยน้ำตาออกมา และเกิดการระคายเคืองผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ หลังจากนั้นมีข้อเสนอว่าบางเหตุการณ์การใช้แก๊สน้ำตาอาจจะไม่จำเป็น ให้ใช้สีผสมน้ำฉีดพ่นเพื่อให้ม็อบสลายตัว” พญ.ฉันทนากล่าว

นอกจากนี้ พญ.ฉันทนากล่าวอีกว่า ในส่วนของแก๊สน้ำตานั้น มีการพัฒนารุ่นใหม่ที่ต่างจากเดิม คือ กระตุ้นต่อมน้ำตาแต่มีความรุนแรง หรือการทำให้เกิดอาการแสบร้อนระคายเคืองน้อยลงจากเดิม อย่างไรก็ตาม การสลายชุมนุมครั้งนี้ ตนไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นแก๊สน้ำตาชนิดใด การปฐมพยาบาลเบื้องต้นจึงควรจะล้างบริเวณที่ถูกสารเคมีด้วยน้ำสะอาด พร้อมทั้งชำระร่างกายให้สะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อป้องกันการได้รับสารเคมีเพิ่มเติม และไม่ให้เกิดการระคายเคืองต่อ โดยหากพ้นจาก 6 ชั่วโมงไปแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะทำการรักษาตามอาการ เช่น การใช้ขี้ผึ้ง หรือยาหยอดตา เพื่อบรรเทาอาการระคายเคือง

Advertisement

“หลักการผสมสีคือ การใช้สีเพื่อให้ติดร่างกายได้ดีประมาณ 3-5 วัน เพื่อระบุตัวตนของผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมได้ ซึ่งประเทศไทยมีประสบการณ์การใช้สีฉีดพ่นในม็อบช่วงปี 2556-2557 โดยสีที่ใช้ฉีดพ่นจะเป็นการผสมระหว่างน้ำ ด่างทับทิม และสารละลาย สีที่ได้จะเป็นสีม่วง ซึ่งมาจากสารที่ค่อนข้างจะปลอดภัย ไม่ทำให้ผิวหนังลอก เพียงแต่ติดผิวหนังนาน ส่วนความรุนแรงที่ได้รับจากแก๊สน้ำตานั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ หากได้รับมากหรือได้รับโดยตรงก็จะเกิดการระคายเคืองที่มากไปด้วย” พญ.ฉันทนากล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สีที่ใช้ในการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นสีฟ้านั้น เป็นสีจากสารเคมีใด พญ.ฉันทนากล่าวว่า ตนไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สารเคมี และในการสลายชุมนุมครั้งนี้ก็ไม่ทราบเช่นกัน รายละเอียดอาจจะต้องถามไปทางเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้สลายการชุมนุม แต่ในความเห็นนั้น หากเป็นสีม่วง เข้าใจว่าน่าจะเป็นสารเดิมที่เคยใช้มาตั้งแต่อดีตก็คือ ด่างทับทิม

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image