เรียนรู้สู้ ฝุ่นพิษ ทวงคืน (สิทธิ) การหายใจ

ทุกคนทราบดีว่า มนุษย์มีความสามารถในการอดอาหาร อดน้ำ ได้นานกว่าสัปดาห์ แต่มนุษย์ไม่สามารถขาดอากาศหายใจได้ กระนั้น สิทธิขั้น

พื้นฐานของทุกคนตั้งแต่ลืมตาดูโลกคือ การได้สูดอากาศที่บริสุทธิ์ เป็นที่มาของการลุกขึ้น สู้ฝุ่นŽ โดยล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดตัว โครงการพลเมืองสร้างสรรค์ (Active Citizen) และผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง (Prime Mover) ในบริบทการจัดการคุณภาพอากาศสำหรับประเทศไทยŽ

เปิดตัวเหล่า 7 ไพรม์ มูฟเวอร์ สู้ฝุ่นพิษ นักวิชาการจาก 7 สาขา ประกอบด้วย 1.ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 2.รศ.ดร.ธันวดี สุขสาโรจน์ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล 3.ผศ.ดร.กฤษฎากร ว่องวุฒิกุล คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 4.ผศ.ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 5.ผศ.ดร.รณบรรจบ อภิรติกุล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา 6.ผศ.ดร.รุจิกาญจน์ นาสนิท คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และ 7.ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด

Advertisement

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยง สสส. กล่าวว่า มลพิษทางอากาศ รวมทั้งฝุ่นพิษ หรือ PM2.5 มีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น การนำเสนอข้อมูลสู่ประชาชนจึงควรมีความชัดเจน ตรงเป้า ครอบคลุมประเด็นที่มีความหลากหลาย เพื่อให้เกิดการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ สสส. คัดสรรผู้นำที่มีความสามารถเชิงวิชาการและอัตลักษณ์เฉพาะตัว ทั้ง 7 ด้าน ครอบคลุมปัญหามลพิษทางอากาศทั่วประเทศ ในการนำความรู้ ความสามารถมาใช้คิด พัฒนา และส่งเสริมให้มีการสื่อสารจนเกิดการตระหนักถึงภัยร้ายของมลพิษทางอากาศ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม แก้ไขปัญหาวิกฤตของชาติอย่างยั่งยืน

“เราดำเนินงานมา 18 ปี พบว่าความสำเร็จอย่างหนึ่งคือการทำงานกับคนที่เกาะติดอย่างไม่ปล่อย เป็นคนที่มีแพสชั่น ยึดมั่นในสิ่งที่เชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหล้า บุหรี่ ความปลอดภัยทางถนน เรื่องลดหวานมันเค็มต่างๆ การดำเนินงานจะไปไม่ได้ถ้าขาดไพรม์ มูฟเวอร์ เราจะต้องทำให้เขามีเวที มีช่องทางการสื่อสารให้ข้อมูลถูกส่งออกไปอย่างที่ชาวบ้านเข้าใจง่าย”Ž นายชาติวุฒิ กล่าว

นายชาติวุฒิ กล่าวอีกว่า สสส.เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศโดยใช้ไพรม์ มูฟเวอร์ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในการสร้างเสริมสุขภาพในประเด็นอื่นมาเป็นเครื่องมือ เกิดมุมมองผ่านผู้เชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนสังคม เป็นมิติใหม่สำหรับประเทศไทยในการที่มีกลุ่มนักวิชาการสหสาขาที่อุทิศตนอย่างมุ่งมั่น เกาะติดในประเด็น และที่สำคัญคือ มีความถนัดเฉพาะทางที่แตกต่างกัน แต่มีจุดยืนร่วมกันคือ การหาทางออกให้กับชาติบ้านเมืองในการฝ่าวิกฤตฝุ่นควัน ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่บั่นทอนสุขภาพของประชาชน และส่งผลกระทบเชิงลบต่อทั้งภาพลักษณ์และบรรยากาศในการลงทุนภายในประเทศ

Advertisement

“หลักสำคัญคือ ฝุ่นเป็นปัญหามาหลายปี แต่ปัญหาไม่มีการหยุดได้อย่างเฉียบขาด เนื่องจากไม่มีตัวเลขของการสูญเสียที่ชัดเจน ทำให้คนรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว ดังนั้น เราจะต้องทำให้คนรู้ว่าฝุ่นไม่ได้อยู่กับเราแค่ 2 เดือน แต่เราต้องอยู่กับฝุ่นตลอดเวลา เพราะเรายังต้องอยู่กับการเผาไหม้เครื่องยนต์ในเมืองหลวง การเผาไหม้ในที่โล่งแจ้งของภาคเหนือหรือภาคกลาง ซึ่งสิ่งที่มองไม่เห็นไม่ได้แปลว่าไม่มีอยู่”Ž นายชาติวุฒิ กล่าว

ด้าน ศ.ดร.ศิวัช กล่าวว่า ไพรม์ มูฟเวอร์ สามารถช่วยรัฐบาลในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศได้โดยเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในการจัดการภาครัฐ (Public Sector Managerial Change) โดยไพรม์ มูฟเวอร์ 1 คน จะมีทีมลงพื้นที่จากกลุ่มพลเมืองสร้างสรรค์ที่สนใจแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอีก 5 คน และจะเพิ่มสมาชิกกลุ่มพลเมืองสร้างสรรค์ให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ ปัญหาเรื่องของฝุ่นบางประเทศ เผชิญกับ PM1.0 ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตประเทศไทยก็คงจะต้องพบเช่นกัน ซึ่งเมื่ออานุภาพยิ่งเล็กผลกระทบต่อสุขภาพจะยิ่งมากขึ้น โดยการแก้ปัญหานั้นจะใช้มุมมองทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากหลายภาคส่วน

“แหล่งกำเนิดสำคัญมาจากไอเสียของยานพาหนะเกือบร้อยละ 70 ที่เหลือมาจากภาคอุตสาหกรรม รวมถึงวิกฤตหมอกควัน จากการเผาอ้อย ซึ่งดูเหมือนจะลุกลามมายังเขตปริมณฑลใกล้เมืองหลวง ทั้งนี้ ยังมีมลพิษข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น การแก้ปัญหาใช้วิทยาศาสตร์อย่างเดียวคงไม่ได้เพราะหากคนยังไม่เปลี่ยน ก็ไม่มีทางดีขึ้นไปได้ โรคภัยต่างๆ ที่มาจากฝุ่น โดยที่เรานึกไม่ถึง เช่น โรคเบาหวาน เนื่องจากฝุ่นพิษ 2.5 กระทบกลไกการทำงานของร่างกาย ไปจนถึงโรคไต ที่มีหลักฐานทางวิชาการระบุว่า การอาศัยอยู่ในพื้นที่หรือสูดรับมลพิษจากอากาศในเวลานาน มีผลต่อการทำงานของไต นอกจากนี้ ยังมีโรคตับ อัลไซเมอร์ โรคหัวใจ มะเร็ง อีกด้วย”Ž ศ.ดร.ศิวัช กล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.กฤษฎากร กล่าวถึงแง่กฎหมายในสิทธิการมีลมหายใจในอากาศบริสุทธิ์ของมนุษย์ว่า ถามว่าเหตุใดจะต้องเอาสิทธิมนุษยชนมาจับกับเรื่องของฝุ่นพิษ ทั้งนี้เกิดจากสิทธิเป็นของทุกคนในการอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต ไปจนถึงการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งในบางผลิตภัณฑ์จากบางประเทศ จะไม่ถูกนำเข้าไปในอีกประเทศ เพราะต้นตอการผลิตละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งด้านแรงงาน กระบวนการผลิตที่ปล่อยฝุ่นพิษออกมากระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือชีวิตของประชาชน ซึ่งลักษณะนี้ เสี่ยงต่อการถูกแบนสินค้า ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ หากกลับมาพูดถึงภายในประเทศ เรื่องสิทธิการหายใจ เป็น 1 ในหลายสิทธิที่ประชาชนพึงมี โดยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขภาพแห่งชาติ ระบุชัดเจนว่า มนุษย์ควรได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพเพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ รวมถึงปรากฏในกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ถึงหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่ประชาชน

“เรื่องคลีนแอร์ เป็นประเด็นที่พูดกันในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะ 2 ปีที่ผ่านมา ที่เน้นย้ำเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยรัฐจะต้องปฏิบัติให้เกิดอากาศที่เอื้อต่อการหายใจ เฝ้าระวังตรวจตราสภาพอากาศ เพื่อให้ได้ข้อมูลเริ่มต้นสำหรับการออกนโยบาย กฎหมายต่างๆ ไปจนถึงการประกาศภัยพิบัติ และกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองในอากาศ โดยประกาศกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เรื่องดัชนีคุณภาพอากาศและมาตรฐานฝุ่นละออง ปี พ.ศ.2553 เรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน กำหนดว่า ปริมาณฝุ่น 100 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และตาม พ.ร.บ.การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 มีอำนาจในการประกาศเหตุจำเป็นต่อสาธารณภัยได้ ดังนั้นหน่วยงานรัฐจะต้องกล้านำกฎหมายเหล่านี้มาใช้บังคับ และดำเนินการให้เข้มข้นŽ” ผศ.ดร.กฤษฎากร กล่าว

ทั้งนี้ ผศ.ดร.นิอร กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ภูเขาและเมืองหลวงในการปล่อยฝุ่นละอองพิษว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะต้องเริ่มจากตัวเอง ซึ่งพบว่าประชาชนทางเหนือยอมรับแล้วว่า ควันที่เกิดจากการเผาไหม้เป็นภัยประจำถิ่นมาตามฤดูกาล เริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม ลมพัดจากภาคกลางของประเทศขึ้นไปถึงภาคเหนือ สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ จ.เชียงราย มีจุดฮอตสปอตน้อยที่สุด แต่รายงานของ คพ. ระบุว่า จ.เชียงราย มีค่า PM2.5 มากที่สุดในประเทศ เหตุนี้เกิดจากการที่ลมพัดจากภาคกลางขึ้นไป ประกอบการความกดอากาศสูงจากประเทศจีน และการเผาไหม้จากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น เป็นเรื่องที่แปลกมากว่า เรารู้สาเหตุและสามารถพยากรณ์ภัยจากฝุ่นเหล่านี้ได้ แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือป้องกันได้

“เราต้องหยุดวิจารณ์ แล้วร่วมกันลงมือทำ โดยทางออกที่ดีคือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ เราจะทำให้ยังไงให้เด็กรู้ว่า ปอดของหนูกำลังจะแย่ เหมือนที่แม่กำลังเป็น เราต้องสร้างองค์ความรู้ให้เด็กรู้ว่า คุณภาพอากาศวันนี้เป็นอย่างไร เหมาะกับการออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้งได้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นการสร้างความตระหนักให้แก่เด็ก และเขาจะรู้ตัวเองเหมือนเป็นสัญชาตญาณว่า เมื่อมีภัยฝุ่นมา จะต้องทำอย่างไรŽ” ผศ.ดร.นิอร กล่าว

เวทีการเสวนาระดมความเห็นของนักวิชาการที่มีความมุ่งมั่นต่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษในประเทศไทย เกิดจากความตั้งใจสร้างความตระหนักถึงภัยใกล้ตัวที่มองไม่เห็น และกระตุ้นการรับรู้ให้กับคนไทยเตรียมพร้อมรับมือ สร้างภูมิคุ้มกันของตนเองและสังคม ขับเคลื่อนแนวความคิดที่ไม่นิ่งเฉยต่อปัญหาที่สะสมเรื้อรัง เพื่อให้สังคมไทยใส่ใจและมีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาวะที่ดี

นี่คือ หนึ่งในสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรได้รับ!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image