สธ.ชงแก้ พ.ร.บ.กัญชา ฉบับ 7 ปลดล็อกวิสาหกิจชุมชน กระตุ้น ศก.ครัวเรือน

สธ.ชงแก้ พ.ร.บ.กัญชา ฉบับ 7 ปลดล็อกวิสาหกิจชุมชน กระตุ้น ศก.ครัวเรือน

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ.เผยยื่นกรมบัญชีกลางแก้ระเบียบเงินบำรุง เอื้อ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล สร้างรายได้จาก “กัญชา” รออนุมัติ ก่อนชง “อนุทิน” ลงนามปลดล็อกปลูกในชุมชน ยันยังคงสถานะเป็นสารเสพติดให้โทษ

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ว่า ในช่วงแรกของนโยบายเป็นการขับเคลื่อนที่เน้นการปลูกเพื่อใช้ในทางการแพทย์ โดยหลังจากนั้น จะเป็นการปลูกเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยหากจะดำเนินการในเรื่องนี้ได้ จะต้องแก้ไขใน 2 เรื่อง ดังนี้ 1.พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นการผูกขาดโดยรัฐ จึงต้องมีการขับเคลื่อนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมกับรัฐ เช่น โรงพยาบาล (รพ.) มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั้งนี้เพื่อให้มีตลาดในการจำหน่ายสินค้ากัญชาที่ได้จากการปลูกของชุมชน 2.แก้ไขภารกิจของ รพ.สต. เพื่อให้มีความพร้อมร่วมเป็นวิสาหกิจชุมชน โดยคนในชุมชนสามารถปลูกร่วมกัน ภายใต้ข้อตกลงร่วมกัน หรือเรียกว่า “ธรรมนูญชุมชุน” ที่ถูกต้อง มีแบบแผนชัดเจน

ภก.อนันต์ชัย กล่าวว่า ยืนยันว่าในการอนุญาตปลูกพืชกัญชา จะต้องเพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์เท่านั้น โดยประชาชนที่สามารถปลูกได้ จะต้องผ่านความเห็นชอบจากแพทย์ว่า สามารถปลูกไว้ใช้เพื่อรักษาอาการป่วยของตนเองได้

“โดยขั้นตอนที่สามารถทำได้หลังจากแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับที่ 7 ได้ คือ การปลูกร่วมกันในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน ยังไม่ใช่การปลูกภายในบ้านแบบเสรี เนื่องจากพืชกัญชายังมีสถานะเป็นสารเสพติดให้โทษ ตามกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) อยู่ และสิ่งที่จะต้องแก้ไขมีเรื่องสำคัญๆ คือ เรื่องระเบียบเงินบำรุง โดยกรมบัญชีกลาง เนื่องจากเงินรายได้ที่ รพ.สต.ได้รับจากการขายพืชกัญชา จะต้องหมุนเวียนกลับไปบำรุงพื้นที่ ทั้งนี้ เนื่องจากเอกชนไม่สามารถผลิต หรือขายได้ เพราะพระราชบัญญัติฉบับที่ 7 ล็อกไม่ให้เอกชน แต่หากจะปลดล็อก จะต้องแก้ไขเรื่องเงินบำรุง” ภก.อนันต์ชัย กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ ภก.อนันต์ชัย กล่าวว่า โดยขณะนี้ทาง สธ.ได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังกรมบัญชีกลางแล้ว หากแก้ไขเรื่องระเบียบเงินบำรุงแล้วเสร็จ ก็จะสามารถส่งเรื่องนี้ถึงรัฐมนตรีว่าการ สธ.ได้ เพื่อลงนามแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับที่ 7 ที่เป็นฉบับเดิมต่อไป

“ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากพืชกัญชาของวิสาหกิจชุมชนนั้นๆ จะต้องมีคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น วิสาหกิจชุมชนปลูกวัตถุดิบส่งไปยัง รพ.สต. หรือ โรงพยาบาล (รพ.) ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แล้วนำไปขายให้กับเอกชน หรืออีกช่องทางหนึ่งคือ การทำคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (contract farming) ระหว่างเอกชนกับวิสาหกิจชุมชน โดยผลิตภัณฑ์จะต้องผ่านมาตรฐานการแพทย์ ทั้งนี้ การแก้ไขส่วนนี้เพื่อสร้างเศรษฐกิจระดับครัวเรือนและชุมชนเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนการแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับที่ 7 ประชาชนจะสามารถปลูกพืชกัญชาที่บ้านได้ 6 ต้น หรือไม่ ภก.อนันต์ชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ ณ ปัจจุบันยังไปไม่ถึงในขั้นตอนนี้ ยังไม่ถึงกระบวนการนั้น ถ้าทำจะต้องอยู่ในฉบับที่ 8 แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังไม่สามารถปลูกเพื่อเสพได้ เพราะยังอยู่ภายใต้กฎหมายของ ป.ป.ส.

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image