สธ.จ่อชง อย.อนุมัติปลูกกัญชา 6 ต้นในรั้วบ้าน นำร่อง จ.บุรีรัมย์ พื้นที่แรกของปท.

สธ.จ่อชง อย.อนุมัติปลูกกัญชา 6 ต้นในรั้วบ้าน นำร่อง จ.บุรีรัมย์ พื้นที่แรกของปท.

วันนี้ (22 พฤศจิกายน 2563) นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงการผลักดันกัญชาทางการแพทย์ระยะที่ 2 (เฟส 2) เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างรายละเอียดโครงการ เพื่อนำเสนอให้ นายอนุทิน ชาญวีร   กูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ลงนาม คาดว่าน่าจะสามารถเสนอได้ราวๆ ต้นเดือนธันวาคมนี้

นพ.กิตติ กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญมีหลายเรื่อง ที่ครอบคลุมการใช้ประโยชน์ ทั้งโมเดลการค้าขาย โมเดลการซับพอร์ต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เรื่องแรกที่จะทำคือ เป็นการต่อยอดจากเฟสแรก คือ การใช้กัญชาทางการแพทย์ให้สามารถเข้าถึงในคลินิกได้ทุกแห่ง ทั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ลงไปจนถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งต้องมาออกคำแนะนำให้แพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทย ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

นพ.กิตติ กล่าวว่า เรื่องที่ 2 คือ การผลักดันกัญชาทางการแพทย์ในเชิงเศรษฐกิจ คือส่งเสริมให้ประชาชนสามารถปลูกได้นั้น ซึ่งถ้าตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 ยังมีข้อจำกัด ในเรื่องของประชาชนจะปลูกจะต้องเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือว่าสหกรณ์การเกษตร เป็นหน่วยงานของรัฐ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถปลูกรายคนได้

Advertisement

“ดังนั้น ระหว่างที่รอการแก้ไข พ.ร.บ.ส่วนนี้ สธ.ก็พยายามหาแนวทางอื่นๆ คือจะมีการจัดทำโครงการนำร่อง ทดลองปลูกกัญชา 6 ต้น ในพื้นที่ รพ.สต.บ้านโนนมาลัย ต.หินเหล็กไฟ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ครอบคลุม 4 หมู่บ้าน กลุ่มตัวอย่างมี 10 หลังคาเรือน โดยให้ชาวบ้านรวมตัวกัน มี รพ.สต. และหน่วยงานในพื้นที่ร่วมกันดูแล อาจจะมีการทำลักษณะคล้ายธรรมนูญสุขภาพ เพื่อคัดเลือกดูแล ระบบการติดตามตรวจสอบอาจจะไม่ต้องถึงขึ้นติดตั้งกล้องวงจรปิด แต่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่มี เช่น โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปส่งรายงาน คาดว่าหากได้รับอนุมัติน่าจะเริ่มปลูกได้ในเดือนมกราคม 2564 หรือช่วงหลังปีใหม่” นพ.กิตติ กล่าวและว่า หากได้รับการอนุมัติ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ จะเป็นพื้นที่แรกของประเทศไทยที่ประชาชนสามารถปลูกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ภายในบริเวณบ้านได้ถูกต้องตามกฎหมาย

 

Advertisement

นพ.กิตติ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือและปรับแก้หนังสือขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และจะนำเข้าเสนอต่อ อย.สัปดาห์หน้า เรื่องทดลองให้ประชาชนปลูกกัญชา 6 ต้น โดยไม่ต้องใช้โรงเรือน ซึ่งต่างจากเดิมที่จะต้องใช้โรงเรือนที่มีต้นทุนสูงในการปลูก

“อันนี้ประชาชนสามารถนำไปปลูกในรั้วบ้านของตัวเองได้ แต่ต้องมีรั้วรอบขอบชิด ต้องมาหาวิธีการปลูกให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ทั้งดิน และน้ำต้องไม่มีการปนเปื้อนสารเคมี และโลหะหนัก ซึ่งผลผลิตที่ได้จะกระจายให้ 2 ช่องทาง คือ ส่ง รพ.สต.บ้านโนนมาลัย เพื่อผลิตตำรับยาที่ไม่ยุ่งยาก หากผลผลิตมากก็ส่งต่อ รพ.คูเมือง ที่เป็นโรงพยาบาลมาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) ได้ ที่เราต้องทำนำร่อง ทำสเกลเล็ก จะได้เห็นปัญหา และหาแนวทางแก้ปัญหาให้ดีที่สุด จากนั้นจะขยายระดับจังหวัด ระดับเขต และทำสเกลใหญ่ขึ้นเมื่อมีความชัดเจนเรื่องรูปแบบที่ได้ผล” นพ.กิตติ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประชาชนที่ได้รับอนุญาตปลูกในพื้นที่นำร่อง ต้องเป็นผู้ป่วยบ่งชี้ในการใช้กัญชารักษาโรคหรือไม่ และมีการบริหารกัญชา 6 ต้น อย่างไร ประชาชนมีความพร้อมมากเพียงใด นพ.กิตติ กล่าวว่า สำหรับการสร้างเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องต้องเป็นผู้ป่วย โดยพื้นที่มีความพร้อมในการดำเนินงานอย่างมาก รายละเอียดที่เราทำส่ง อย.นั้น ได้มาจากประชาชนในพื้นที่เป็นผู้เสนอมาทางสถาบันฯ เอง ในการวางระเบียบกำกับดูแล เช่น แบ่งครัวเรือนในการทดลองปลูก 10 ครัวเรือน จัดทำธรรมนูญชุมชน โดยมีผู้กำกับดูแลเป็นชาวบ้านจากหมู่อื่น ถ่ายภาพส่งมารายงาน รพ.สต.บ้านโนนมาลัย ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ทุกวัน มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ต่างหมู่เข้ามาตรวจสอบความเรียบร้อย ส่งรายงานผ่านกลูเกิลแพลตฟอร์ม เป็นต้น

“เราโยนโจทย์เดียวให้เขาไปว่า คุณสามารถกำกับดูแลได้หรือไม่ เขาก็คิดกันเอง เสนอมาแบบนี้ บางคนบอกว่าจะให้ติดกล้องวงจรปิดด้วย แต่อาจจะไม่จำเป็นถึงขนาดนั้น เพราะเราเลือกทำสเกลเล็ก 6 ต้น สามารถควบคุมได้ง่าย อย่างไรก็ตาม หาก อย.อนุมัติแล้วก็สามารถเริ่มดำเนินงานได้ทันที ไม่ต้องผ่านขั้นการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการ สธ. เนื่องจากเป็นนโยบายที่ ปลัด สธ. มอบหมายให้ดำเนินการ หากผ่าน อย.แล้ว ดำเนินการได้ผลอย่างไรก็จะมีการทบทวน เรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ปัญหาที่ต้องแก้ไขต่างๆ แล้วเมื่อได้ข้อสรุปก็จะต่อยอดในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป” นพ.กิตติ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image