คพ.ผนึกกำลังสหรัฐฯ ใช้เทคโนโลยีอวกาศ ประเมินฝุ่นล่วงหน้า 3 วัน แม่นยำร้อยละ 70

คพ.ผนึกกำลังสหรัฐฯ ใช้เทคโนโลยีอวกาศ ประเมินฝุ่นล่วงหน้า 3 วัน แม่นยำร้อยละ 70

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) พร้อมด้วยดร.สตีเว่น จี โอลีฟ ผอ.องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ สำนักงานภาคพื้นเอเชีย นายอัสลัม เปอร์เวส รองผอ.การบริหารศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือในการพัฒนาระบบการติดตาม ประเมิน และพยากรณ์คุณภาพอากาศโดยใช้เทคโนโลยีอวกาศ

 

นายอรรถพล กล่าวว่า คพ.ได้ร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ในการจัดทำระบบการติดตาม ประเมิน และพยากรณ์คุณภาพอากาศโดยใช้เทคโนโลยีอวกาศ หรือ Mekong Air Quality Explorer (http://aqatmekong-servir.adpc.net/en/mapviewer/) เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหามลพิษอากาศ ผ่านความร่วมมือกับองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย โครงการเซอร์เวียร์แม่โขง และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจีสด้า เพื่อดำเนินงานแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” มีการดำเนินการควบคุม กำกับ ดูแล ภารกิจตามมาตรการในรูปแบบวอร์รูม ซึ่งเมื่อเกิดสถานการณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการยกระดับการดำเนินงานอย่างเข้มงวด ให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

Advertisement

นายอรรถพล กล่าวว่า ระบบการติดตาม ประเมิน และพยากรณ์คุณภาพอากาศ จะช่วยรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศของประเทศไทย โดยประมวลผลจากข้อมูลดาวเทียมและระบบแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของนาซ่า ราย 3 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรายงานความเข้มข้นของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เชิงพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศ พร้อมทั้งมีการพยากรณ์ล่วงหน้า 3 วัน ร่วมกับการดำเนินงานของจีสด้า ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของไทยที่พัฒนาระบบข้อมูลดาวเทียม เพื่อการติดตามแหล่งกำเนิดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จุดความร้อน พื้นที่เผาไหม้ การกระจายตัวและทิศทางของฝุ่นละออง ซึ่งมีความแม่นยำถึงร้อยละ 70 รวมถึงพฤติกรรมการแพร่กระจายของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เชิงพื้นที่ ทั้งในประเทศและรอบประเทศที่ความถี่ทุกชั่วโมง สำหรับประกอบการออกคำแนะนำเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมความพร้อมและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ระบบการติดตาม ประเมิน และพยากรณ์คุณภาพอากาศ ยังเป็นเครื่องมือสนับสนุนข้อมูลให้กับแอปพลิเคชัน “Burn Check” เพื่อลงทะเบียนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เกษตรกรรม

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า จากความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีในข้างต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ได้ยกระดับการดำเนินงานโดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย องค์ความรู้จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image