เริ่มแล้ว!! ไทยรับถ่ายทอดเทคโนโลยีวัคซีนโควิด-19 คาด 26 ล้านโดส 13 ล้านคน ได้ใช้กลางปี’64

เริ่มแล้ว!! ไทยรับถ่ายทอดเทคโนโลยีวัคซีนโควิด-19 คาด 26 ล้านโดส 13 ล้านคน ได้ใช้กลางปี’64

วันนี้ (24 พฤศจิกายน 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีน แถลงความคืบหน้าการผลิตวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 สำหรับนำมาฉีดให้กับคนไทย ภายหลังจากที่มีบริษัทผลิตวัคซีนหลายแห่งในต่างประเทศออกมาประกาศความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีน

นพ.นคร กล่าวว่า ประเทศไทยร่วมกับต่างประเทศ คือ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ได้ประกาศผลการทดสอบวัคซีนในคนระยะที่ 3 ให้ผลเบื้องต้นมีประสิทธิภาพป้องกันได้เฉลี่ยร้อยละ 70 ในจำนวนนี้ แบ่งเป็น 2 ตำรับวัคซีน คือ 1.ฉีดครึ่งโดสในครั้งแรก และฉีดอีก 1 โดส ในครั้งที่ 2 ประสิทธิภาพป้องกันร้อยละ 90 และ 2.ฉีดครั้งละ 1 เข็ม 2 ครั้ง ประสิทธิภาพร้อยละ 62 ซึ่งเฉลี่ยร้อยละ 70 โดยแผนในระหว่างนี้บริษัท แอสต้าเซนเนก้าจะรวบรวมผลการวิจัยในคนระยะที่ 3 ต่อ เพื่อนำข้อมูลที่ชัดเจนขึ้นในการยืนยันต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือ FDA ของสหราชอาณาจักร และยุโรป โดยจะทยอยส่งข้อมูลไปเพื่อให้พิจารณาอย่างต่อเนื่องในการขึ้นทะเบียน

“เป็นการร่วมมมือในการร่วมผลิตวัคซีนกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ในลักษณะการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาให้เราร่วมผลิต ซึ่งไม่ใช่การได้รับเป็นวัคซีนสำเร็จรูป แต่เป็นการนำมาผลิตในประเทศไทย โดยที่บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ มีความตั้งใจขยายกำลังการผลิตจำนวน 3,100 ล้านโดสต่อปี ไทยจึงได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีมาผลิตร่วมกับ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด โดยรัฐบาลได้อนุมัติงบกลางมาให้ เพื่อให้พร้อมต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อผลิตเพียงพอต่อประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน” นพ.นคร กล่าว

Advertisement

นพ.นคร กล่าวว่า งบที่ให้กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จำนวน 26 ล้านโดส สำหรับประชากร 13 ล้านคน และเมื่อได้ทำการจองแล้ว มีวัคซีนแล้ว กรมควบคุมโรคจะจัดซื้อเข้ามา เพื่อกระจายให้ประชาชนตามกลุ่มเป้าหมายต่อไป การที่ไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19 การรับได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีมาทำให้เราได้รับความรู้ ความชำนาญ เพื่อการพึ่งพาตัวเองได้ทั้งในเวลานี้และอนาคต

นพ.นคร กล่าวว่า การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ทั้งนี้ 2 บริษัท คือ แอสตร้าเซนเนก้า และ สยามไบโอไซเอนซ์ มีการประสานงานกันในการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ในการผลิตออกมาเป็นวัคซีน หลังจากนั้นจะต้องตรวจสอบคุณภาพ และขึ้นทะเบียน อย.ไทย คาดว่าจะมีวัคซีนในไทยประมาณกลางปี 2564 และการผลิตจำนวนมากต้องใช้เวลา กำลังการผลิตในไทยได้ 15 ล้านโดสต่อเดือน แต่เราต้องทยอยผลิต และส่งมอบให้กับประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วย โดยกรมควบคุมโรคจะต้องทำแผนบริหารการใช้วัคซีนเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังการผลิต ต้องวางแผนให้ชัดเจนว่า 1 เดือนจะต้องใช้เท่าไร เพื่อกระจายวัคซีนและคงอายุของวัคซีนไว้

Advertisement

“ในจำนวนที่เราจองไว้ 26 ล้านโดส เราต้องการเดือนละกี่ล้านโดส ต้องบอกเขา เพราะที่เหลือจะได้ทยอยส่งออก ซึ่งเป็นการวางแผนกับกรมควบคุมโรคและบริษัทที่ผลิต ล็อตแรกเราจะได้กี่ล้านโดส ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้กี่โดส เราก็บอกเขา เพื่อให้เขาวางแผนการผลิต เพื่อให้กระจายไปในประเทศอื่นที่จองแบบเรา แต่วัคซีนไม่ควรผลิตมาแล้วรอการใช้ จะต้องเป็นการทยอยส่งมอบและใช้ ขึ้นอยู่กับการวางแผนที่ชัดเจน” นพ.นคร กล่าวและว่า ในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ เวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าและสัญญาซื้อวัคซีนจากการจอง ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อมูลขณะนี้มี 3 บริษัท ที่คาดว่าจะได้ผล แต่การผลิตวัคซีนโดยเฉพาะระยะสั้นๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยประชากรไทยมี 76 ล้านคน ต้องการวัคซีนประมาณ 140 ล้านโดส ซึ่งวัคซีนมีจำนวนไม่ถึงสำหรับทั้งหมด จึงตั้งเป้าไว้ว่าอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากร จึงต้องมีวิธีการบริหารจัดการนำวัคซีนไปฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความมั่นคงด้านวัคซีน ที่มีคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จะเป็นกำหนดว่า จะฉีดวัคซีนอะไร ให้กลุ่มเป้าหมายใด ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยจะฉีดวัคซีนบริการให้ประชาชน อยู่ในสิทธิประโยชน์ในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อการป้องกันโรค โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ อยู่ระหว่างเตรียมข้อมูล คาดว่าจะประชุมกันในเร็วๆ นี้ ซึ่งหลักการจะดูหลายอย่าง เช่น กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตหากได้รับเชื้อ กลุ่มที่มีโอกาสแพร่เชื้อสูง และคาดจะได้ผลในเดือนธันวาคมนี้

นพ.โอภาส กล่าวว่า อายุของวัคซีนราว 6-12 เดือน ดังนั้นการได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจะทำให้ลดเวลาการขนส่ง เพื่อรักษาอายุวัคซีน ดังนั้นการผลิตในประเทศได้จะทำให้เราควบคุมกำลังการผลิตไม่ให้มากเกิน หรือ ให้เพียงพอต่อการใช้งาน ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีครั้งนี้ แผนการผลิตอยู่ที่เดือนละ 2 ล้านโดส จากกำลังผลิตจากโรงงานที่ผลิตได้เดือนละ 15 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับความต้องการฉีดของประชากรในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกัน

“และการสวมหน้ากากอนามัย ยังเป็นวัคซีนที่ดีสำหรับการป้องกันโรค อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกตื่นตัวเรื่องวัคซีนสูง เริ่มมีแนวคิดว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้วจะเดินทางข้ามประเทศได้หรือไม่ โดยหลักแล้วก็คือได้ เพราะต่างคนต่างฉีด ไม่ต้องกักตัว แต่เราจะถึงขนาดนั้นได้เมื่อไหร่ ก็เป็นคำถาม รวมถึงเราจะเชื่อประสิทธิภาพของวัคซีน จะเชื่อใจกันในแต่ละประเทศอย่างไร จะตองหารือระดับประเทศ เราจึงต้องคงมาตรการกักตัวอยู่ คาดว่ากว่าวัคซีนจะผลิตและได้ฉีดจริง กว่าจะพิสูจน์ใช้ได้จริง ก็คาดว่าอย่างต่ำ 6 เดือน ในปี 2564 ดังนั้นการกักตัวจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนอกมา ก็ต้องขอให้ประชาชนร่วมมือกันสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และล้างมือให้บ่อยกันต่อไป เพื่อป้องกันโรคต่างๆ” นพ.โอภาส กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image