แพทย์เผยผลตรวจสารตกค้างในผัก ผลไม้ ยังพบ 3 สารพิษอื้อ!!

แฟ้มภาพ
แพทย์เผยผลตรวจสารตกค้างในผัก ผลไม้ ยังพบ 3 สารพิษอื้อ!!

วันนี้ (25 พฤศจิกายน 2563) ที่โรงแรมริชมอนด์ นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างบรรยายหัวข้อ “สารเคมีกำจัดศัตรูพืชกับสุขภาพคนไทย” ในงานประชุมวิชาการเพื่อเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชปี 2563 ก้าวไปข้างหน้าสร้างระบบเกษตรและอาหารที่ปลอดภัย ว่า นัยยะของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช คือ การกำจัดสิ่งมีชีวิตบางประเภทที่จะมาทำลายพืชผลทางการเกษตร เช่น แมลง วัชพืช เชื้อรา หอย ปู ฯลฯ

“แต่แท้จริงแล้ว ยังมีตัวเลือกอื่นอีกมากมายที่สามารถกำจัดได้ เนื่องจากตัวเลือกการใช้สารเคมีสุดท้ายแล้วก็จะกลับมาทำร้ายเรา การนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและหน่วยบริการสาธารณสุข ปี 2560 พบว่ามีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นจากปี 2559 จำนวน 3.74 หมื่นตัน โดยปี 2561 จำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด 38.3 ล้านคน พบว่าเป็นแรงงานนอกระบบ 21.2 ล้านคน โดยมากกว่าครึ่งคือ 11.7 ล้านคน ทำงานอยู่ในภาคการเกษตร ซึ่งหากไม่มีการใช้สารเคมีต่างๆ อย่างถูกวิธี หรือไม่มีความรู้ก็จะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ ทั้งนี้ ในปี 2563 พบว่ามีครัวเรือนที่ยังใช้สารเคมีทางการเกษตร จำนวน 677,522 ครัวเรือน ซึ่งจะส่งผลต่อการตกค้างของสารเคมีในสิ่งแวดล้อม แหล่งดิน น้ำ และอื่นๆ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.ดนัย กล่าวว่า การเดินหน้าต่อสู้กับสารเคมีทางการเกษตรเป็นสิ่งที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง มีการเปลี่ยนใช้สารทดแทนที่มีพิษน้อยลง นำมาเจือจางกับน้ำเพื่อลดความเข้มข้นของสาร แต่ไม่ได้การันตีว่าจะปลอดภัย เพราะอย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของสารเคมีเช่นเดิม โดยในครั้งนี้เป็น 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยทั้งหมดมีผลต่อสุขภาพประชาชนทั้งในรูปแบบเฉียบพลันและสะสมเป็นระยะเวลานาน ความเป็นพิษของสารเคมีทั้ง 3 สาร เริ่มจาก พาราควอต มีพิษเฉียบพลัน และสะสมในเวลานาน ในปัจจุบันยังไม่มียาถอนพิษ จากการวิจัยพบว่า ตกค้างในซีรั่มของทารกแรกเกิดและมารดา และเมื่อสะสมในร่างกายมาก ๆ จะส่งผลให้เกิดโรคพาร์กินสันในผู้สูงวัยมากขึ้น พบเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ในน้ำ แหล่งการเกษตรกรรม

Advertisement

 

นพ.ดนัย กล่าวว่า คลอร์ไพริฟอส ส่งผลต่อระบบประสาททํางานผิดปกติ ตกค้างในน้ำนมมารดา ส่งผลทำให้ระบบประสาทผิดปกติ เกิดความผิดปกติทางพัฒนาการสมองของเด็กที่แม่ได้รับสารระหว่างตั้งครรภ์ จากผลการศึกษาทดลองพบว่ากระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้ในหลอดทดลอง รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อที่เป็นต่อมผลิตฮอร์โมนในการควบคุมและเจริญเติบโตทางร่างกาย ทั้งยังพบว่า อัตราการเกิดโรคมะเร็งยังมีเพิ่มมากขึ้นซึ่งเลี่ยงไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากสารเคมีที่สะสมและตกค้างในร่างกาย และสารสุดท้าย คือ ไกลโฟเซต โดยองค์การอนามัยโลก คาดว่าเป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็งกลุ่ม 2A ทั้งยังรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ เกิดเป็นโรคไม่ติดต่อ เช่น เบาหวาน โรคไต และกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม อีกด้วย

นอกจากนี้ นพ.ดนัย กล่าวว่า การเฝ้าระวังสารตกค้างในผักผลไม้ปี 2563 ใน 3 สาร ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม ได้แก่ 1.โครงการอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาล 27 แห่ง ผลการวิเคราะห์ 3 สารจำนวน 135 ตัวอย่าง ในอาหารเพื่อผู้ป่วยก็ยังพบว่ามีสารตกค้าง โดยเฉพาะไกลโฟเซต พบการตกค้าง 4 ตัวอย่าง คลอร์ไพริฟอส พบการตกค้าง 10 ตัวอย่าง 2.โครงการอาหารปลอดภัยตลาดนัด สธ. 2 ครั้ง ผลการวิเคราะห์จำนวน 69 ตัวอย่าง พบการตกค้างของคลอร์ไพริฟอส 11 ตัวอย่าง ไกลโฟเซต 5 ตัวอย่าง และ 3.แหล่งจำหน่ายผักและผลไม้สด 77 จังหวัด จำนวน 85 ตัวอย่าง พบการตกค้างของคลอร์ไพริฟอส 9 ตัวอย่าง ไกลโฟเซต 1 ตัวอย่าง ซึ่งจากการศึกษาจะเห็นได้ว่า ยังมีการใช้สารเคมีซึ่งเกิดการตกค้างในอาหารที่เรารับประทาน โดยจะเกิดการสะสมในร่างกายก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพต่อไป

Advertisement

“ในเรื่องของการใช้ 3 สารเคมียังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันว่าหากไม่มีการใช้แล้วจะนำสารใดมาทดแทนข้อดีของสารพิษเหล่านี้ เช่น พาราควอต มีผลดีคือทำให้การทำเกษตรรวดเร็วขึ้น ลดการใช้จำนวนแรงงาน แต่เราจะแลกกันไหมว่าหากเรามีสิ่งทดแทนการใช้สารเคมี เช่นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะเป็นเรื่องที่ดีต่อการทำเกษตรกว่าหรือไม่ อย่างที่เรารับทราบกันดีว่า หากเราต่อสู้กับเชื้อโรคมันไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากเราต่อสู้กับสารเคมีก็จะเป็นเรื่องที่ยาก เพราะคนอาจไม่มีความรู้เรื่องสารเคมีมากนัก และเราก็จะเห็นได้ว่ายังพบผู้ป่วยที่ได้รับสารเคมีเป็นจำนวนมากขึ้นในทุกปี” นพ.ดนัย กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image