ไทยใกล้เส้นชัยปลอดพิษสุนัขบ้า ตั้งเป้าสำเร็จ ปท.แรกในอินโดจีน

ไทยใกล้เส้นชัยปลอดพิษสุนัขบ้า ตั้งเป้าสำเร็จ ปท.แรกในอินโดจีน

วันนี้ (25 พฤศจิกายน 2563) ที่โรงแรมริชมอนด์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ภายใต้โครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า” ตามพระปณิธาน ศ. ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และโรคไข้หวัดนก ทั้งภาคสุขภาพคน สัตว์ และสัตว์ป่า โดยมี นสพ.ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และ นายธวัชชัย เลี้ยงประเสริฐ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เข้าร่วม

นพ.โอภาส กล่าวว่า การดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรคฯ ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ด้วยพระปณิธานอันมุ่งมั่นที่ทรงงานหนัก ประกอบกับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทำให้ปี 2563 ไทยพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพียง 3 ราย และสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ก็มีแนวโน้มลดลง โดยสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในไทย ตั้งแต่ปี 2560-2562 พบผู้เสียชีวิต 11, 18 และ 3 ราย ตามลำดับ และปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม– วันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 พบผู้เสียชีวิต 3 ราย จาก 3 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว หนองคาย และศรีสะเกษ ซึ่งผู้เสียชีวิตทุกราย มีประวัติถูกสุนัขที่ตนเลี้ยงไว้กัดหรือข่วน โดยไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีน

“นอกจากนี้ มีการตรวจพบสัตว์ติดเชื้อทั้งสิ้น 206 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 3.16 ของตัวอย่างที่ส่งตรวจทั้งหมด) เป็นสัตว์ที่มีเจ้าของร้อยละ 35 และไม่มีเจ้าของ ร้อยละ 38.35 ขณะที่บางพื้นที่ไม่พบการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและสัตว์ต่อเนื่องมามากกว่า 2 ปี ดังนั้น ทิศทางของการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในระยะต่อไป จึงควรให้พื้นที่ที่ไม่พบโรคมีการประเมินและรับรองเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ไปสู่พื้นที่ที่ยังพบการระบาดของโรค เพื่อให้ประเทศไทยเข้าสู่เป้าหมายการเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับนโยบายของกรมควบคุมโรค มี 4 ข้อ 1.เร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ผู้สัมผัสโรคทุกคน 2.สนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้าให้กับบุคลากรและอาสาสมัครกลุ่มเสี่ยง 3.สนับสนุนความร่วมมือตามยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ของทุกกระทรวง และ 4.ร่วมมือประเมินพื้นที่ปลอดโรค โดยร่วมกับ กรมปศุสัตว์ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินพื้นที่ปลอดโรคฯ เพื่อให้เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ใช้ในการประเมินตนเอง และขอรับรองเป็นพื้นที่ปลอดโรค โดยค่อยๆ เพิ่มพื้นที่ปลอดโรคจนครบทั่วประเทศ หากทำสำเร็จ ไทยจะเป็นประเทศแรกของภูมิภาคอินโดจีน ที่มีการประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโรคอย่างเป็นทางการ

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับการเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนก กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการร่วมกับกรมปศุสัตว์มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว มีการประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคไข้หวัดนกให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และประชาชนอย่างทั่วถึง ให้คำแนะนำผู้เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีรายงานผู้ป่วยหรือสัตว์ปีกติดเชื้อ และพิจารณาซ้อมแผนเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกระดับจังหวัดและชายแดน รวมถึงการคิดค้นและพัฒนาแอพพลิเคชั่น “Farmer” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังโรคผ่าน “Mr.ไข้หวัดนก” ของแต่ละจังหวัด เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนก ถึงแม้ว่าจะไม่พบโรคนี้ในประเทศมานานหลายปี แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่โรคนี้อาจกลับมาระบาดได้อีก

โดยสถานการณ์โรคไข้หวัดนก ช่วงที่มีการระบาดในประเทศไทย ระหว่างปี 2547-2549 พบว่ามีผู้ป่วย 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย คิดเป็นร้อยละ 68 นับเป็นอัตราป่วยตายที่ค่อนข้างสูง กรมควบคุมโรคจึงมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศเพื่อนบ้านเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ในประเทศไทยยังไม่พบผู้เสียชีวิตหลังจากปี 2549 อย่างไรก็ตาม ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงดำเนินการตามแนวทางและมาตรการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องต่อไป

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image