ผู้ประกันตนฉีดวัคซีนกว่า 1.3 แสนคน รพ.ประกันสังคม เปิดเลานจ์ยกระดับบริการ

ผู้ประกันตนฉีดวัคซีนหวัดใหญ่กว่า 1.3 แสนคน รพ.ประกันสังคม เปิดเลานจ์ยกระดับบริการ

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่กระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการประชุมชี้แจงการจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์และการตรวจสอบข้อมูลการใช้บริการ ทางการแพทย์ของสถานพยาบาลประกันสังคมทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้ไปสู่เป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้กับผู้ประกันตนมีสุขภาพที่ดี โดยใช้หลักการ “ป้องกัน ดีกว่าแก้ไข” รวมถึงการปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับบริการที่ดีมีมาตรฐาน เพื่อให้แรงงานได้มีหลักประกันที่ดี เหมาะสมในการดำรงชีวิต

“เพราะหากผู้ประกันตนมีสุขภาวะที่ดี ย่อมเกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งกระทรวงแรงงาน มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการจัดการและพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อดูแลด้านการรักษา ของผู้ประกันตน ให้ได้รับการบริการที่ดี มีคุณภาพ โดยมุ่งหวังที่จะให้บริการทางการแพทย์มีระบบการ บริหารจัดการที่เป็นเลิศ (Governance Excellence) ซึ่งประกอบด้วยระบบข้อมูลด้านสารสนเทศ ด้านสุขภาพ ความมั่งคง ด้านยาและเวชภัณฑ์ และการคุ้มครองผู้บริโภค” นายสุชาติ กล่าว

ทั้งนี้ นายสุชาติ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อชี้แจงให้สถานพยาบาลในระบบประกันสังคม ภาครัฐ จำนวน 164 แห่ง และ ภาคเอกชน จำนวน 81 แห่ง ทำความเข้าใจแนวทางการตรวจสอบข้อมูลการใช้บริการทางการแพทย์ (Medical Audit) มาดำเนินการให้สอดคล้องกับการเบิกจ่ายอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างความมั่นใจในการให้บริการทางการแพทย์อย่างมีคุณภาพ ถูกต้อง และเป็นไปตามความจำเป็นทางด้านการแพทย์ที่ผู้ประกันตนต้องได้รับ อีกทั้งคุ้มค่ามีประสิทธิภาพเหมาะสม ต่อการใช้จ่ายงบประมาณของ สปส.

“การดำเนินการดังกล่าวมีการชี้แจงให้สถานพยาบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ทราบ และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน นำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะกรณีการจัดส่งข้อมูลเวชระเบียบเพื่อใช้ในการตรวจสอบ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นในการพิจารณาจ่ายค่าบริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน เมื่อผู้ประกันตนประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน สามารถไปเข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ โดย สปส.จะเป็นผู้จ่ายค่าบริการทางการแพทย์ทั้งหมด และผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฯ กำหนดให้ สปส.จ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มให้แก่สถานพยาบาลนอกเหนือจากอัตราเหมาจ่าย ดังนี้

1.ค่าบริการทางการแพทย์สำหรับสถานพยาบาลที่ต้องรับภาระกรณีโรคที่มีภาระเสี่ยง 26 โรค และค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยทุกรายโดยคำนวณตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมในอัตรา 453 บาทต่อคนต่อปี

2.ค่าบริการทางการแพทย์สำหรับสถานพยาบาลที่ต้องรับภาระกรณีโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงในอัตรา 746 บาท/คน/ปี
3.ค่าบริการทางการแพทย์สำหรับสถานพยาบาลตามสิทธิที่ให้บริการทางการแพทย์ กรณีผู้ป่วยในที่มีค่ารักษาพยาบาลสูงเกินปกติที่มีค่าใช้จ่ายเกินกว่า 1 ล้านบาท

Advertisement

4.ค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ประกันตน หรือสถานพยาบาลที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ กรณีผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19

5.มีการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับผู้ประกันตน และมีการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุกในสถานประกอบการ

6.เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ให้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ชนิด 3 สายพันธุ์ หรือ 4 สายพันธุ์ 1 ครั้ง/คน/ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งมีสถานพยาบาล ที่เป็นเครือข่ายของ สปส.ให้บริการฉีดวัคซีน รพ.ของรัฐ 164 แห่ง รพ.เอกชน 81 แห่ง ล่าสุดมีผู้ประกันตนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว จำนวน 131,797 คน

7.สถานพยาบาลจัดให้มีการดูแลอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกันตน โดยเชิญชวนสถานพยาบาลที่เป็นเครือข่ายประกันสังคมทุกแห่ง ดำเนินการจัดจุดบริการพิเศษ ให้แก่ผู้ประกันตน “ประกันสังคม Smile Corner” เพื่อเป็นจุดรับรองพิเศษแก่ผู้ประกันตนที่มาใช้บริการ เช่น มีน้ำดื่ม เครื่องดื่ม ชา กาแฟ ที่นั่งพักระหว่างรอรับบริการ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image