สธ.เผย 10 สาวลอบเข้าไทย พบผู้สัมผัส 699 ราย เผยยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม

สธ.เผย 10 สาวลอบเข้าไทย พบผู้สัมผัส 699 ราย เผยยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม

วันนี้ (3 ธันวาคม) ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวความคืบหน้ากรณีการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จากการเดินทางลักลอบเข้าประเทศไทย

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า จากการตรวจสอบ พบว่าการลักลอบเข้ามานั้นมีการอาศัยช่วงเปลี่ยนเวรพอดี ซึ่งกลุ่มนี้จับจ้องอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ฝ่ายผกครองมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นแล้ว ขอยืนยันว่าไทยเป็นประเทศที่ปลอดจากเชื้อโควิด-19 ที่สุดในโลก สามารถเดินทางในประเทศได้อย่างปลอดภัย แต่ในต่างประเทศยังมีการระบาดอยู่ เมื่อไปแล้วก็จะเกิดความเสี่ยง ซึ่งเหมือนในกลุ่มนี้ที่เป็นการนำเชื้อเข้าประเทศและเกิดความเสี่ยงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สธ. โดยกรมควบคุมโรคสามารถดักจับได้อย่างรวดเร็ว และขอให้ทุกคนอย่าปกปิด อย่าหลบหนีเพราะไม่เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และเป็นผลกระทบต่อประเทศชาติ สังคมและเศรษฐกิจด้วย หากผู้ที่เดินทางไปแล้วจะกลับเข้ามา ขอให้ไปแจ้งกับทางการเพื่อเข้ารับการกักตัว

Advertisement

นพ.โอภาส กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกรวมถึงรอบบ้านของประเทศไทยทั้งประเทศเมียนมาและอินโดนีเซียที่ยังคงน่าเป็นห่วงอยู่ โดยผู้ที่ลักลอบข้ามแดนจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาเข้า อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 10 ราย กระจายอยู่ใน จ.เชียงใหม่ และ เชียงรายจังหวัดละ 3 ราย กรุงเทพมหานคร(กทม.) พิจิตร ราชบุรี และพะเยา จังหวัดละ 1 ราย ทุกรายมีจุดเริ่มต้นมาจาก จ.ท่าขี้เหล็ก เมียนมา จากการสอบสวนโรคพบว่า คนกลุ่มนี้เดินทางไปทำงานที่โรงแรมวันจีวัน ใน จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา จากนั้นสถานการณ์โควิด-19 ในเมียนมาเริ่มไม่ดี จึงเดินทางเข้าประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)โรคติดต่อ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีโทษรุนแรงและผู้ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด

“กลุ่มนี้เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านพรมแดน ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจะไปเที่ยวและกลับไปที่บ้านหรือที่พักเดิม หลังจากนั้นเริ่มมีอาการป่วยและมีการตรวจพบที่โรงพยาบาล(รพ.) ในบางรายได้ประวัติเราก็ไปสอบสวนโรค” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

นพ.โอภาส กล่าวว่า โดยตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม พบผู้ติดโควิด-19 ทั้งหมด 10 ราย มีผู้สัมผัสรวม 699 ราย เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 175 ราย ผลตรวจส่วนใหญ่เป็นลบ แต่จะต้องตรวจซ้ำอีกครั้งจนกว่าจะพ้นระยะฟักตัว ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 524 ราย ขณะนี้คุมไว้สังเกตอาการแล้ว ทั้งนี้การแยกกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือการที่ผู้ป่วยและผู้สัมผัสไม่สวมหน้ากากอนามัยทั้งคู่ พูดคุยกันในระยะใกล้เกินกว่า 5 นาที หรืออยู่ในห้องเดียวกันที่อากาศไม่ถ่ายเทร่วมกันเกิน 15 นาที ส่วนกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ คือ การที่ผู้ป่วยและผู้สัมผัสสวมหน้ากากอนามัยเหมือนกันก็จะลดความเสี่ยงลงได้ ส่วนยานพาหนะบนเครื่องบิน มีมาตรการให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่ำ โดยต้องชมเชยศิลปินที่ร่วมเดินทางไฟล์ทเดียวกับผู้ป่วย เมื่อเจ้าหน้าที่ประสานไป ก็ได้ทำการกักตัว 14 วันทันที หากคนไทยช่วยกันเช่นนี้ ก็จะเกิดประโยชน์อย่างมาก ส่วนในรถตู้ที่นั่งร่วมกันเกิน 15 นาทีก็จะเป็นความเสี่ยงต่ำ แต่หากทุกคนสวมหน้ากากอนามัยก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้

นพ.โอภาส กล่าวว่า ความกังวลที่ผู้ติดเชื้อจาก จ.พะเยา เดินทางไปเที่ยวในงานฟาร์มเฟส สิงห์ปาร์ค จ.เชียงราย เนื่องจากมีคนเข้าร่วมงานจำนวนมาก โดยเฉพาะวันที่ 29 พฤศจิกายน ทาง จ.เชียงราย ได้ไปตรวจสอบแล้วพบว่า เวลา 19.30 น. ซื้อตั๋วลาน C 19.38 น. ถึงจุดตรวจอาวุธ จากนั้น 19.41 น. เข้าป่าหลังห้องน้ำบ้านแดง และ 19.48 น. เข้าไปที่ฟาร์มเฟส ดังนั้น หากผู้ที่เข้าไปในพื้นที่บริเวณหน้าเวที โซนลานเบียร์ ห้องน้ำ ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อรับคำแนะนำ พร้อมรับการตรวจโควิด-19 และหากผู้ที่อยู่ในงานเดียวกันและเกิดความกังวลสามารถติดต่อไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) เชียงราย ติดต่อ 054-281027 ถึง 15 และ สสจ.เชียงใหม่ ติดต่อ 084-805-3131 , 084-805-2121
นพ.โอภาส กล่าวว่า โดยสรุปแล้วการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 10 รายที่ลักลอบเข้าไทย เป็นการติดเชื้อมาจากประเทศเพื่อนบ้าน สัมพันธ์กับสถานบันเทิง หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายและเดินทางไปหลายจังหวัด และสังเกตว่าส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคเหนือทั้งเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา หรือ พิจิตร ขณะนี้ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ดำเนินการติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น จ.เชียงราย ด่านคัดกรองที่อยู่ตรงข้าม จ.ท่าขี้เหล็ก เมียนมา ได้ประสานขอรายชื่อคนไทยตกค้าง และให้เดินทางกลับประเทศอย่างถูกต้อง โดยฝ่ายความมั่นคงได้ปิดด่านเข้าออกทุกจุดแล้ว ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่พบผู้ป่วย ทางจังหวัดได้ดำเนินมาตรการสอบสวนโรค ตรวจสถานพยาบาลและสถานบันเทิงให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่กำหนด เนื่องจากผู้ป่วยที่ลักลอบเข้ามาบางครั้งไม่กล้าไป รพ.ของรัฐ จึงเดินทางไปที่คลินิกหรือ รพ.เอกชน ก่อน

“ขอให้เจ้าของบ้าน เจ้าของโรงแรม บ้านเช่า คอนโด สถานบันเทิง ผู้ว่าจ้างงาน สถานประกอบการ หากพบผู้ที่มาเมียนมาโดยเฉพาะท่าขี้เหล็ก ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ เพราะความเสี่ยงไม่ได้อยู่แค่ตัวเขา แต่จะอยู่ที่ตัวท่านและครอบครัว รวมถึงชุมชนของท่าน” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า มาตรการต่อไป คือ1.พยายามให้คนไทยตกค้าง ที่ จ.ท่าขี้เหล็ก เดินทางเข้าไทยอย่างกฎหมายเพื่อเข้าสู่ระบบกักกันโรค 2.การสอดส่องในประเทศ โดยฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3.การเฝ้าระวังทางการแพทย์และสาธารณสุข จะมีการดูแลในชุมชน โดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ที่มีกว่าล้านคน ไปเคาะประตูบ้านเพื่อค้นหาผู้ที่มาจากเมียนมา และ 4.ความร่วมมือของประชาชน ด้วยการช่วยกันสวมหน้ากากอนามัย ติดตามข่าวจากส่วนราชการ ร่วมกันปฏิบัติตามในมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล สแกนเข้าออกผ่านแอพพลิเคชั่นไทยชนะ

“คนไทยยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ต้องกังวล เราเชื่อว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ หากเราทุกคนร่วมมือกัน โดยได้สอบถามไปทาง จ.เชียงราย ได้เตรียมเตียงไว้ 400 เตียง มีชุดป้องกันส่วนบุคคลสำรองกว่า 3 เดือน มียาและเวชภัณฑ์ แต่หากคนไทยร่วมมือกันเชื่อว่าจะไม่พบผู้ป่วยมากมายขนาดนั้น” นพ.โอภาส กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image