สธ.เผย 45สถานบริการสาธารณสุขเมืองนครฯ รับผลกระทบน้ำท่วมเปิดบริการแล้ว!

สธ.เผย 45สถานบริการสาธารณสุขเมืองนครฯ รับผลกระทบน้ำท่วมเปิดบริการแล้ว!

วันนี้ (3 ธันวาคม 2563 ) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก จากฝนตกหนักในช่วงวันที่ 25 พฤศจิกายน – วันที่ 2 ธันวาคม 2563 ที่ จ.นครศรีธรรมราช ว่า วันนี้ได้รับรายงานจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) นครศรีธรรมราช มีสถานบริการสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 45 แห่ง ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) 1 แห่ง, สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) 2 แห่ง, โรงพยาบาล (รพ.) 2 แห่ง และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 40 แห่ง ขณะนี้สถานการณ์ได้คลี่คลายลงแล้ว สถานบริการสาธารณสุขส่วนใหญ่เปิดให้บริการได้ตามปกติได้ และให้สำรวจประเมินความเสียหายสถานบริการที่ได้รับผลกระทบ สนับสนุนการซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารสถานที่ที่ได้รับความเสียหาย และประสานกองสาธารณสุขฉุกเฉินหากต้องการการสนับสนุนจากส่วนกลาง

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ได้รับผลกระทบน้ำท่วมบริเวณหน้าห้องฉุกเฉินของ รพ. วันนี้ระดับน้ำได้ลดลงแล้ว สามารถให้บริการได้ตามปกติ เหลือเพียงถนนหน้าโรงพยาบาลยังคงมีระดับน้ำสูงอยู่ โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และหน่วยทหารได้สนับสนุนรถยกสูงมาให้บริการรับส่งผู้ป่วยและผู้มารับบริการ ส่วนบ้านพักเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ถูกน้ำท่วมชั้นหนึ่งทุกหลังได้รับความเสียหายเช่นกัน โดยทางโรงพยาบาลได้เปิดศูนย์พักพิง พร้อมจัดอาหารและน้ำดื่มดูแลเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยและญาติที่ไม่สามารถเดินทางกลับบ้าน จำนวน 30 คน

Advertisement

“ส่วน รพ.ท่าศาลา เปิดให้บริการได้ตามปกติ ยังมีน้ำท่วมถนนโดยรอบพื้นที่ ทั้งในโรงพยาบาลและคลินิกโรคเรื้อรังชั้นล่าง ได้ย้ายจุดบริการ จัดรถยกสูงรับส่งผู้ป่วยถึงห้องฉุกเฉิน และตึกผู้ป่วยนอกชั้น 2 และ รพ.ทุ่งสง ขณะนี้ระดับน้ำลดลงแล้ว มีความเสียหายหลายจุดในโรงพยาบาล อยู่ระหว่างการตรวจสอบความเสียหาย คาดจะสามารถเปิดให้บริการได้ในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ ส่วน รพ.ทุ่งสง แห่งใหม่ไม่ได้รับผลกระทบ ให้บริการตามปกติ” ปลัด สธ. กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ สสจ. และโรงพยาบาลทุกแห่ง ส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ออกเยี่ยมบ้านดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ โดยบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานในพื้นที่ เตรียมพร้อมดูแลประชาชนหากมีเหตุการณ์น้ำท่วม น้ำหลากซ้ำ เพื่อป้องกันความเสียหายสถานพยาบาล ไม่กระทบบริการประชาชน จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการดูแลประชาชนที่ประสบภัยจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ ได้จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ให้พื้นที่ ได้แก่ ยาน้ำกัดเท้า 5,500 ชุด ยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 500 ชุด ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการผู้ประสบภัย อ.พระพรหม มีผู้รับบริการจำนวน 185 คน ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า เวียนศีรษะ ความดันโลหิตสูง และไข้หวัด ที่ อ.ขนอม และ อ.เฉลิมพระเกียรติ พบผู้ประสบภัยมีภาวะเครียด 15 ราย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image