ชาวบ้าน-อุทยาน ร่วมดูแล ช้างชรา ป่ารอยต่อ สัตวแพทย์ชี้ โอกาสน้อยมาก จะเจอ

 ชาวบ้าน-อุทยาน ร่วมดูแล ช้างชรา ป่ารอยต่อ สัตวแพทย์ชี้ โอกาสน้อยมาก จะเจอ ไม่สามารถใช้ชีวิตในธรรมชาติกับลูกหลานได้

วันที่ 5 ธันวาคม นายสัตวแพทย์(นส.พ.)ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้าฝ่ายจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมกับทีมสัตวแพทย์จากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) เจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาช้างป่าอำเภอท่าตะเกียบ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่า อำเภอสนามชัยเขตและอำเภอท่าตะเกียบ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ร่วมกันประชุมวางแผนการจัดการดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพช้างป่าวัยชรา หรือ พังยายเกตุ ในพื้นที่บ้านโปร่งเกตุ หมู่ที่ 10 ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา

นส.พ.ภัทรพล กล่าวว่า พังยายเกตุ เป็นช้างป่าเพศเมีย อายุมาก เมื่อ 3 เดือนก่อน มีอาการเจ็บขาหน้าซ้าย ได้ทำการรักษาโดยให้ยารักษาการติดเชื้อและยาลดการอักเสบระยะไกลโดยทีมสัตวแพทย์สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์(สบ.อ.)ที่ 2 หลังจากให้ยา ช้างป่ามีอาการดีขึ้น อาการอักเสบที่ขาลดลง จึงทำการติดตามอาการ พบว่าช้างป่ามีการแยกตัวออกจากโขลง หากินตัวเดียว

Advertisement

 

“ปัจจุบัน มีอาการเดินลากขาหลังซ้าย รูปร่างซูบผอม มีน้ำไหลออกมาจากขาหนีบข้างซ้าย ปัสสาวะเป็นฟอง อุจจาระหยาบ ขับถ่ายออกมายังคงสภาพของอาหารที่กินได้อย่างชัดเจนและเป็นมูก มีกลิ่นคาว และเนื่องจากอยู่ในวัยชราทำให้ช้างป่ามีพฤติกรรมเคลื่อนไหวช้า ตอบสนองต่อการรับรู้หรือการได้ยินค่อนข้างน้อย กินอาหารได้ครั้งละน้อยๆ แต่กินบ่อยครั้ง อุจจารระมีขนาดเล็กและหยาบ กินน้ำได้ ปัสสาวะปกติ โดยสรีระและอายุที่มากของช้างป่าตัวดังกล่าวทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตในป่าลึก จึงออกมาอาศัยในพื้นที่ราบและแยกออกจากฝูง อยู่ใกล้แหล่งพืชเกษตรกรรม แหล่งน้ำ เพื่อง่ายต่อการหากิน และบางครั้งมีฝูงช้างป่าเข้ามาหาบ้าง แต่ไม่กลับเข้าฝูง ตรงโคนหางเป็นรอยถูกงาแทง 1 รอย อาจเกิดจากการถูกช้างป่าเพศผู้ไล่ทำร้าย ร่องรอยตามตัวเกิดจากการดำรงชีวิตตามธรรมชาติ ตามตัวมีรอยแมลงกัด ไม่พบร่องรอยการกระทำอันเกิดจากมนุษย์ “นส.พ.ภัทรพล กล่าว

Advertisement

ผลการตรวจสุขภาพจากระยะไกล คะแนนวัดความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ที่ 1.5/5 (ปกติอยู่ที่ 3) ตาข้างขวามีกระจกตาสีขาวขุ่น มีปัญหาด้านการมองเห็น ตาอาจบอด ค่อนข้างระมัดระวังในการเดิน พบว่าเดินชนต้นไม้ มีพฤติกรรมหวงอาณาเขต ระแวงคน มีการพ่นดินใส่ตัวเป็นการขู่ไม่ให้เข้าใกล้ สุขภาพโรยราเป็นไปตามอายุขัย อาจตายได้ตลอดเวลา

นส.พ.ภัทรพล กล่าวว่า สำหรับแผนการจัดการสุขภาพ เน้นอาหารอ่อนๆ หรืออาหารนิ่มๆ ย่อยง่าย ได้แก่ กล้วยสุก มะละกอสุก ขนุนสุก ห้ามให้ผลไม้หรืออาหารที่มีการใช้สารเคมี ต้นกล้วยแนะนำให้หั่นเป็นท่อนเล็กๆ ความยาวไม่เกิน 1 ฟุต อาจจะมีการจัดเตรียมอาหารเม็ดสำหรับช้างป่าผสมกับผงแคลเซียมและกล้วยสุก เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร อาจมีการให้มะขามเปียกคลุกเกลือ เพื่อช่วยในเรื่องระบบการขับถ่าย หากพบว่าช้างท้องอืด หรือไม่ไม่ขับถ่าย โดยจะมีการประสานขอสนับสนุนอาหารเสริมหรือพืชสมุนไพรจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สำหรับอาหารที่ชาวบ้านนำมามอบให้ ได้ให้เจ้าหน้าที่กำชับและรณรงค์ชาวบ้านว่าต้องสะอาดและปลอดสารเคมี

” เนื่องจากช้างป่าตัวนี้อยู่ในวัยชรามาก การผลักดันช้างป่ากลับป่าถิ่นอาศัยมีความเสี่ยงมาก มีการจัดเวรเจ้าหน้าที่จากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) เจ้าหน้าที่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และอาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่าชาวบ้านโปร่งเกตุ หมู่ที่ 10 ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต ชาวบ้านคลองมะหาด หมู่ที่ 14 ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา มาเฝ้าดูแล โดยให้ช้างป่าอาศัยอยู่เพื่อฟื้นฟูร่างกายบริเวณนี้ก่อนจนกว่า จะมีความพร้อมในการเคลื่อนย้ายไปยังโครงการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์(เขาตะกรุบ)หรือกลับสู่ป่า หรือดูแลในสถานที่แห่งนี้จนกว่าจะสิ้นอายุขัย ซึ่งถือว่า เป็นเคสที่ค่อนข้างโชคดี เพราะโดยปกติแล้ว เราจะพบเห็นช้างชราที่อาศัยในธรรมชาติยากมาก”นส.พ.ภัทรพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image