คุ้มครองแรงงาน (ข้ามชาติ) ด้วยสิทธิประกันสังคม

แฟ้มภาพ

ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าแรงงานข้ามชาติจำนวนมมาก มีทั้ง ถูกŽ และ ผิดŽ กฎหมาย ยังไม่นับรวมแรงงานนอกระบบที่เป็นคนไทยและต่างชาติอีกกว่า 20 ล้านคน ในจำนวนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้เข้าไม่ถึงสิทธิการคุ้มครองแรงงานในหลายๆ ด้าน จึงก่อให้เกิดการผลักดันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กระจายความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย

ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และภาคีเครือข่าย จัดเสวนา การคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านและแรงงานในภาคเกษตรŽ เวทีถกประเด็นการเข้าถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติและนอกระบบ เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน

Advertisement

นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน กล่าวว่า วันนี้ต้องยอมรับว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ในฐานะแม่บ้าน หรือที่เราเข้าใจกันว่าคนรับใช้ ไปจนถึงแรงงานภาคเกษตรกรรม ได้เกิดการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องการเข้าถึงสิทธิ เพราะที่ผ่านมา กฎหมายที่คุ้มครองแรงงานเหล่านี้ยังไม่ชัดเจน บางรายทำงานตามฤดูกาลเกิดความติดขัดเรื่องการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่ไม่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีแรงงานนอกระบบที่หมายรวมถึงคนไทยเองกว่า 20 ล้านคน แรงงานข้ามชาติอีก 2 ล้านคน ในจำนวนนี้ยังมีแรงงานใต้ดินอีกมหาศาล ที่เราเองต้องมีการยกระดับในการที่จะเอาเขาเหล่านั้นขึ้นมานั่งบนดินโดยได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย หลังจากนี้จะต้องเกิดการร่างกฎหมายแรงงานนอกระบบอย่างจริงจัง และจะต้องทำให้บรรลุผลในปี 2564

“กฎหมายคุ้มครองแรงงานข้ามชาติปัจจุบันยังดูแลไม่ทั่วถึงทุกอาชีพ ยังพบความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมเรื่องการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ ชั่วโมงการทำงาน และสิทธิการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ สิ่งเหล่านี้สะท้อนปัญหาทางสุขภาวะชัดเจน ทำให้ขณะนี้อยู่ระหว่างปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านแรงงานพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. … มาดูแลแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ประมาณ 22 ล้านคน ให้เหมือนลูกจ้างในระบบ ตั้งเป้าภายในปี 2564 อาชีพอิสระ อาทิ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้ขนส่งดิลิเวอรี งานฟรีแลนซ์ แท็กซี่รับจ้าง จะต้องมีกฎหมายคุ้มครองดูแล”Ž นายสุเทพกล่าว

Advertisement

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติที่ประกอบอาชีพในเมืองไทยมีความรู้ด้านการดูแลสุขภาพน้อย ยกตัวอย่างการลงพื้นที่เก็บข้อมูลแรงงานชาวเมียนมา 4 จังหวัด ได้แก่ ระนอง สมุทรสาคร ชลบุรี และหนองคาย จำนวน 850 คน ของ สสส.กับมหาวิทยาลัยมหิดล พบแรงงานร้อยละ 61.88 ไม่มีความรู้ด้านสุขภาพ มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ส่งผลกระทบกับร่างกาย ไม่เข้าใจสิทธิสวัสดิการที่ควรจะได้รับ และบางคนยังเข้าไม่ถึงการรักษาในโรงพยาบาล จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเครื่องมือสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพที่ใช้ชื่อว่า หลักสูตรอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าวŽ หรือ อสต. ในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมทั้งมีล่ามแปลภาษา เพิ่มศักยภาพในการส่งผ่านข้อมูลถึงแรงงานข้ามชาติในพื้นที่นำร่อง 13 จังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ควบคู่กับการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพและความปลอดภัยของแรงงานข้ามชาติกลุ่มจ้างงานชั่วคราวและตามฤดูกาล

“กฎหมายด้านแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังคุ้มครองแรงงานข้ามชาติไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพและไม่เพียงพอ เพราะยังมีการกำหนดนิยามที่เกี่ยวข้องในลักษณะแคบ จนทำให้แรงงานที่ควรต้องได้รับการคุ้มครองตกหล่นไปจากระบบ เช่น แรงงานภาคเกษตร ทำงานบ้าน และเมื่อแรงงานถูกทำให้มองไม่เห็นในระบบการจ้างงาน จึงส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำและส่งผลกระทบต่อสภาวการณ์ด้านสุขภาพที่แรงงานต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นด้วยตนเอง”Ž นางภรณี กล่าว

ด้าน นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน กล่าวว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานปัจจุบันยังมีช่องโหว่เรื่องการดูแลลูกจ้างชาวไทยและแรงงานข้ามชาติบางอาชีพ ที่เห็นชัดที่สุดคือ แรงงานกลุ่มเกษตรกรรมและทำงานบ้าน จึงเสนอให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 14 พ.ศ.2555 เพิ่มสิทธิ สวัสดิการดูแลแรงงานกลุ่มนี้ให้เท่าเทียมกับคนที่ทำอาชีพอื่น เพราะหากรอกฎหมายฉบับใหม่ อาจจะใช้ระยะเวลานานเกินไป อาจกระทบต่อสุขภาวะของคนที่หาเช้ากินค่ำ และการปรับปรุงกฎกระทรวงช่วยเหลือแรงงานจะต้องมองลึกไปถึงอาชีพอื่นๆ และแรงงานทุกชาติ ไม่ใช่แค่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา โดยที่ไม่เลือกปฏิบัติ

“ส่วนที่ 1 แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบตามกฎหมายมาตรา 33 มีอยู่ประมาณ 2 ล้านคนเศษ ซึ่งมีสิทธิเท่ากับคนไทยทั้งหมด ส่วนที่ 2 เป็นแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย มีราว 2 ล้านคน ซึ่งรวมแล้วแรงงานข้ามชาติทั้งหมด ประมาณ 4 ล้านคน ส่วนที่ 3 แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีถิ่นอาศัยถาวรในไทย ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรสุขภาพ เพื่อให้มีสิทธิรักษาพยาบาลในไทย เช่น แม่บ้าน แรงงานเกษตร ฯลฯ โดยสิ่งที่กังวลที่สุดคือ แรงงานบางคนมีสิทธิแต่เข้าไม่ถึงสิทธิ”Ž นายมนัส กล่าว

นายมนัส กล่าวว่า จะเห็นว่าขณะนี้มีแรงงานข้ามชาติ 2 กลุ่ม ที่ยังถูกกฎกระทรวงแรงงานยกเว้นในการเข้าถึงประกันสังคมอยู่ คือ แรงงานเกษตร ที่เป็นการว่าจ้างตามฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้ยากต่อการหานายจ้างรับรอง และงานทำความสะอาด ที่ในบางครั้งอาจจะทำหน้าที่ที่มากกว่างานบ้าน ในขั้นตอนจึงจะต้องมีการระบุและให้คำนิยามที่ชัดเจนเพื่อการร่างแก้กฎหมาย โดยจะต้องผ่านการตกผลึกจากทุกฝ่าย ทั้งนี้ หลักสำคัญของกฎหมายแรงงานระบุว่า การจะเข้าถึงประกันสังคมได้จะต้องมีนายจ้างและลูกจ้าง อย่างน้อย 1 คน ดังนั้น จึงต้องมีการขับเคลื่อนให้ลูกจ้างกลุ่มนี้ สามารถเข้าถึงประกันสังคมมาตรา 33 ได้ ด้วยการแก้กฎกระทรวง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน

ทั้งนี้ มี 2 เสียงของฝั่งแรงงานข้ามชาติจากทั้งหมดกว่า 4 ล้านคน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ด้วย

นายวีŽ แรงงานสัญชาติเมียนมา ภาคการเกษตร (ในระบบ) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่เข้าประกันสังคมมาตรา 33 ต้องใช้การซื้อบัตรประกันสุขภาพแทน แต่มองว่าสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมมีมากกว่า เช่น บัตรประกันสุขภาพไม่คุ้มครองค่ารักษาการบาดเจ็บจากการทำงาน จึงพยายามเข้าระบบประกันสังคมโดยใช้เวลากว่า 10 ปี กระทั่งปัจจุบันที่มีการขับเคลื่อนให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าสิทธิประกันสังคมได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง แต่ก็พบปัญหาที่ทำให้แรงงานข้ามชาติยังไม่เข้าสู่ระบบ คือ 1.นายจ้างกลัวเสียเงินสมทบประกันสังคม 2.แรงงานเองยังไม่มีความเข้าใจในระบบประกันสังคม เกิดความกังวลและคิดว่าไม่อยากยุ่งยาก

“ตอนนี้ มีทั้งคนอยากเข้าและไม่อยากเข้า คนที่เข้าใจในสิทธิประโยชน์ก็อยากเข้า ส่วนคนที่ไม่เข้าใจก็ไม่อยากเข้า”Ž นายวีกล่าว

ขณะที่ นางจำปาŽ แรงงานสัญชาติเมียนมา อาชีพแม่บ้าน (นอกระบบ) กล่าวว่า ตอนทำงานอาชีพแม่บ้านมาร่วม 28 ปี ซึ่งโดยอาชีพแล้วไม่สามารถเป็นแรงงานในระบบได้ และเข้าไม่ถึงสิทธิประกันสังคม จึงอยากเรียกร้องให้เปิดกว้าง เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย เช่น การกำหนดเวลาทำงาน ค่าแรงขั้นต่ำ การเข้าถึงบริการสุขภาพ


“ตอนนี้เราไม่อยู่ในกฎหมาย นายจ้างจะจ้างแค่ 5,000 บาทต่อเดือนก็ได้ ซึ่งมีจำนวนมากที่อยู่ในกลุ่มนี้ บางคนทำงาน 18 ชั่วโมงก็มี ตื่นตี 5 นอน 4 ทุ่ม ก็มี เพราะกฎหมายไม่ได้คุ้มครองเรา และนายจ้างก็ไม่ผิด”Ž นางจำปากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image