กทม.จัดระเบียบผู้ค้าคลองโอ่งอ่าง ลั่นทำผิดกติกาออกคำสั่งห้ามขาย!

กทม.จัดระเบียบผู้ค้าคลองโอ่งอ่าง ลั่นทำผิดกติกาออกคำสั่งห้ามขาย!

วันนี้ (9 ธันวาคม 2563) นางวัลยา วัฒนรัตน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางและหลักเกณฑ์เงื่อนไขการทำการค้าในพื้นที่ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง โดยมี นายโกสินทร์ เทศวงษ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. ผู้บริหารเขตสัมพันธวงศ์ ผู้ค้าคลองโอ่งอ่าง จำนวน 90 คน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมหารือที่สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์

นางวัลยากล่าวว่า ในการประชุมร่วมกับผู้ค้า ผู้ประกอบการภายในถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง ฝั่งเขตสัมพันธวงศ์ เพื่อชี้แจงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการทำค้าบริเวณดังกล่าว รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ค้าให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ กทม.กำหนด

“เพื่อให้การทำการค้าในพื้นที่ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง ฝั่งเขตสัมพันธวงศ์ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และคงความสวยงามไว้อย่างยั่งยืน จึงกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการค้าในพื้นที่ให้ผู้ค้าถือปฏิบัติ โดยวันเวลาพื้นที่ทำการค้าและการตั้งวาง ประกอบด้วย วันที่สามารถทำการค้าได้ คือ วันศุกร์ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 16.00-22.00 น. สำหรับพื้นที่ระหว่างสะพานดำรงสถิตถึงสะพานภาณุพันธุ์ และสะพานภาณุพันธุ์ถึงสะพานหัน สามารถทำการค้าได้ โดยต้องเป็นเจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคาร หรือได้รับความยินยอมจากเจ้าของผู้ครอบครองอาคารนั้นๆ และสามารถตั้งวางแผงค้าออกมาได้ 1 เมตร นับจากตัวอาคาร” รองปลัด กทม.กล่าว

Advertisement

นางวัลยากล่าวว่า ส่วนพื้นที่ระหว่างสะพานหันถึงสะพานบพิตรพิมุข สามารถทำการค้าได้ โดยต้องเป็นเจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคาร หรือได้รับความยินยอมจากเจ้าของผู้ครอบครองอาคารนั้นๆ และสามารถตั้งวางแผงออกมาได้ 1 เมตร นับจากตัวอาคารเช่นกัน สามารถตั้งโต๊ะไว้รับประทานอาหารได้บริเวณริมนอกอาคาร โดยต้องจัดให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม ด้านพื้นที่ตอนบนของแผงค้าให้มีหลังคาหรือร่มขนาดที่เหมาะสมได้ และเมื่อเลิกทำการค้าแล้วต้องเก็บทันทีในวันที่ทำการค้า

นางวัลยากล่าวว่า สำหรับข้อที่ผู้ค้าต้องถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด 1.ห้ามตั้งวางสินค้าบริเวณแนวริมกำแพงภาพวาด (Street Art) 2.ห้ามแขวน ผูก ตอก เกี่ยวผ้าใบ หลอดไฟ หรือสิ่งอื่นใดกับต้นไม้ หรือราวกันตก 3.ห้ามใช้แรงงานต่างด้าวในการทำการค้า 4.ห้ามทิ้งขยะและล้างภาชนะในที่หรือทางสาธารณะ 5.ห้ามขายสัตว์เลี้ยง 6.ห้ามค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ และสิ่งผิดกฎหมายทุกชนิด 7.ห้ามจอดรถจักรยานยนต์ในช่วงเวลาที่มีการค้าขาย 8.สินค้าที่นำมาขายหรือจำหน่ายต้องถูกสุขลักษณะอนามัยตามที่กฎหมายกำหนดและไม่เป็นสินค้าผิดกฎหมาย หรือมีลักษณะเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

Advertisement

“9.ต้องเก็บสินค้าและอุปกรณ์ทันทีเมื่อเลิกทำการค้า 10.ในการขายหรือจำหน่ายสินค้าประเภทอาหาร จะต้องไม่ก่อให้เกิดมลพิษและความเดือดร้อนรำคาญ และใช้วัสดุบรรจุอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 11.ผู้ทำการต้องปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้อุปกรณ์ที่อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น ก๊าชหุงต้ม เตาปิ้งย่างไฟฟ้า เป็นต้น และ 12.ผู้ทำการค้าต้องสวมหน้ากากอนามัยระหว่างทำการค้าตลอดเวลา ด้านการดูแลรักษาความสะอาดบริเวณหน้าอาคาร เมื่อเลิกทำการค้าต้องล้างทำความสะอาดบริเวณที่ทำการค้าทุกครั้ง และให้ดูแลรักษาต้นไม้ บริเวณหน้าอาคารให้เกิดความเรียบร้อยและสวยงาม” รองปลัด กทม.กล่าว และว่า หากฝ่าฝืน ไม่เชื่อฟังคำแนะนำ คำตักเตือน จะถูกสั่งให้หยุดทำการค้าเป็นเวลา 7 วัน หากฝ่าฝืนเกินกว่า 2 ครั้ง จะระงับการทำการค้าดังกล่าว และอาจถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image