วัยรุ่นฮิตเสพ ‘กระท่อมผสมยาเค’ สธ.ชี้อันตรายถึงตาย-เฝ้าระวังเข้ม

วัยรุ่นฮิตเสพ “กระท่อมผสมยาเค” สธ.ชี้อันตรายถึงตาย-เฝ้าระวังเข้ม

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยผลตรวจพิสูจน์ยาเสพติดในของกลางน้ำต้มพืชกระท่อม ปีงบประมาณ 2563 รวม 196 คดี 546 ตัวอย่าง พบรูปแบบใหม่ผสม “เคตามีน” ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท อันตรายถึงตาย เร่งประสานหน่วยป้องกัน ปราบปราม ควบคุมสถานการณ์ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า พืชกระท่อม จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ลำดับที่ 2 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2561 ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการนำพืชกระท่อมมาต้มเป็นน้ำต้มพืชกระท่อม และมีการนำใช้ในทางที่ผิดในหมู่วัยรุ่น เพื่อความสนุกสนาน คึกคะนอง ผสมกับสารอื่นๆ ซึ่งรู้จักในชื่อสี่คูณร้อย ส่วนใหญ่พบมีการใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน เช่น ยาแก้แพ้ ทำให้ง่วงซึม เช่น ไดเฟนไฮดรามีน และคลอร์เฟนิรามีน ยาแก้ปวดทำให้เกิดอาการหลอน เช่น ทรามาดอล หรือวัตถุออกฤทธิ์ เช่น อัลปราโซแลม และโคลนาซีแพม ซึ่งเมื่อผสมเข้าด้วยกันแล้วจะออกฤทธิ์ทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาว จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมโดยใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า จากข้อมูลการตรวจพิสูจน์คดีน้ำต้มพืชกระท่อมของสำนักยาและวัตถุเสพติดในปีงบประมาณ 2563 ( วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง วันที่ 30 กันยายน 2563) รวมทั้งสิ้น 196 คดี จำนวน 546 ตัวอย่าง พบตัวอย่างได้รับจากเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีการใช้น้ำต้มพืชกระท่อมร่วมกับเคตามีน จำนวน 4 ตัวอย่าง ปริมาตรรวม 10.530 ลิตร โดยคีตามีน (Ketamine) หรือที่รู้จักกันในหมู่ผู้ใช้ยาเสพติดว่า “ยาเค” จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ลำดับที่ 16 ตามประกาศ สธ.เรื่อง ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 พ.ศ.2561 เป็นยาที่ใช้ในทางการแพทย์เพื่อใช้เป็นยาสลบหรือระงับปวด เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับสถานพยาบาล และอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติในประเทศไทย

Advertisement

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า การใช้เคตามีนจะทำให้สูญเสียความทรงจำ มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตและประสาทหลอนได้ มักพบการใช้เคตามีนในทางที่ผิดในสถานบันเทิงร่วมกับยาอี เพื่อหวังฤทธิ์การหลอนประสาท เมื่อนำมาผสมกับน้ำต้มพืชกระท่อมและรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการทางจิตและเสพติด การใช้เคตามีนในขนาดที่สูงจะทำให้เกิดการอาเจียน ชัก สมองและกล้ามเนื้อขาดออกซิเจนและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ การตรวจพบการใช้น้ำต้มพืชกระท่อมร่วมกับคีตามีนในตัวอย่างของกลางที่ส่งมาตรวจยังกรมวิทยาศาสตร์ฯ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มสถานการณ์การใช้ยาเสพติดร่วมกันรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนในประเทศ ซึ่งข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทราบ และใช้ติดตามป้องกัน ปราบปราม และควบคุมสถานการณ์ยาเสพติดของประเทศต่อไป

“สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์ฯ เป็นห้องปฏิบัติการ (แล็บ) อ้างอิงด้านวัตถุเสพติดของประเทศ ได้ให้การสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โรงพยาบาลของรัฐและเอกชน กรมราชทัณฑ์ และหน่วยงานเอกชนทั่วประเทศ โดยการตรวจยาเสพติดในตัวอย่างของกลางและสารเสพติดในปัสสาวะ เพื่อหาชนิดและปริมาณยาเสพติด แล้วนำผลการวิเคราะห์ประกอบการพิจารณาทางอรรถคดี รวมถึงดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดของสารเสพติดชนิดใหม่ สารทดแทนหรือจากการนำยาที่ใช้ในทางการแพทย์ไปใช้ในทางที่ผิด เพื่อช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศ” นพ.ศุภกิจกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image